xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เดินหน้า “ยากำพร้า-ต้านพิษ” ช่วยเข้าถึงบริการ ลดตาย รัฐประหยัดงบ 2.2 หมื่น ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สปสช. เผยผลพัฒนาระบบเข้าถึงยา จ (2) ยากำพร้า และยาต้านพิษ ช่วง 6 ปี ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้ป่วยทุกระบบเข้าถึงการรักษาเกือบ 5 หมื่นราย ลดอัตราการตายจากการเข้าไม่ถึงยา ยันยาในระบบมีคุณภาพ จัดระบบตรวจซ้ำก่อนจัดซื้อเข้าระบบ

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในอดีตก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) กลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ ที่มีอัตราการใช้ต่ำ และไม่แน่นอน ยากต่อการประมาณการจำนวนผู้ป่วย ทำให้บริษัทยาส่วนใหญ่ไม่อยากนำเข้าหรือลงทุนผลิตยาในกลุ่มนี้ จึงมักมีปัญหาการสำรองในระบบบริการ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษในอดีตมักต้องเสียชีวิต เนื่องจากไม่มียารักษา สปสช. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สภากาชาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้องพัฒนาระบบการเข้าถึงยาในกลุ่มยาแพงตามบัญชี จ (2) กลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันในปี 2558 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านยารวมแล้ว 17 รายการ และยังได้บริหารจัดการกลุ่มยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มอีก 17 รายการ ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าถึง โดยได้จัดทำระบบตั้งแต่การจัดหายา กระจายยาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงทันเวลาในภาวะที่จำเป็น ผ่านระบบ VMI ของ อภ. จากการดำเนินงานช่วยประเทศประหยัดค่ายาลงได้ถึง 22,590 ล้านบาท ซึ่งก่อนจัดซื้อเข้าระบบได้มีการจัดระบบการตรวจวิเคราะห์ซ้ำว่าได้มาตรฐานเพื่อเกิดความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

จากการจัดการบัญชียา จ (2) ตั้งแต่ปี 2552 ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับยาบัญชี จ (2) ถึง 41,837 ราย ขณะที่กลุ่มยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มนั้น ปี 2557 มีการเบิกจ่ายยากลุ่มนี้เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย 5,432 ราย ซึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับยากำพร้าและยาต้านพิษมีจำนวนที่หายเป็นปกติโดยไม่มีรอยโรคสูงถึงร้อยละ 94.29 และ 87.50 ตามลำดับ ถือเป็นการรักษาที่คุ้มค่ามาก” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

อนึ่ง รายการยาในบัญชียา จ (2) ที่ได้บริหารจัดการ 17 รายการ เช่น ยาเลโทรโซล (Letrozole) รักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย ยาโดซีแทกเซล (docetaxel) รักษามะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมน ยาไอวีไอจี (IVIG) แบบฉีดมีหลายข้อบ่งใช้ เช่น โรคที่อันตรายถึงชีวิต (life-threatening) และไม่ตอบสนองต่อการรักษาต่อยาอื่น (refractory) เช่น SLE, vasculitis เป็นต้น ยาโบทูลินัมท็อกซิน สายพันธุ์เอ (Botulinum toxin type A) รักษาโรคบิดเกร็งของใบหน้า เป็นต้น ส่วนกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ เช่น เซรุ่มต้านพิษงู, เซรุ่มต้านพิษงูเขียงหางไหม้, เซรุ่มต้านพิษงูแมวเซา, เซรุ่มต้านพิษงูกะปะ, เซรุ่มรวมระบบเลือด เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น