เลขาธิการสภาเภสัชกรรม ชี้ ระบบบริหารจัดการด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนของ สปสช. ช่วยลดปัญหาโรงพยาบาลจัดเก็บยา ประชาชนเข้าถึงยา โดยเฉพาะยาจำเป็น เสนอรวมบริหารจัดการยาบัญชี จ.2 ของผู้ป่วยทุกระบบ
ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ เลขาธิการสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินนโยบายเพื่อบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ โดยจัดตั้งเป็นกองทุนยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน ทั้งการจัดหายา การจัดซื้อยา การต่อรองราคา และการบริหารจัดการ ในกลุ่มยาที่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มยากำพร้า ยาต้านพิษ และยาบัญชี จ.2 รวมถึงวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาที่หายาก มีการใช้น้อยและราคาแพง แต่มีความจำเป็นต้องมีในคลังยาของโรงพยาบาล ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงเพิ่มขึ้น ต่างจากอดีตที่โรงพยาบาลต้องซื้อเอง ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีอำนาจการต่อรองต่างกัน ทำให้จัดซื้อยาและวัคซีนได้ในราคาที่ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ การจัดระบบคลังยาและการกระจายยาภายใต้ระบบ VMI ซึ่ง สปสช. ได้ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำให้เกิดการกระจายยาไปยังหน่วยบริการทั่วประเทศ ลดปัญหาการจัดเก็บยาของโรงพยาบาล มีการตรวจสอบและเติมยาเข้าสู่คลังยาของโรงพยาบาล และพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องยาขาด ยาหมดอายุ และการจัดส่งไม่ทัน
“ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการด้านยา โดยผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการยาในภาพรวมระดับประเทศเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาล และระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การจัดการด้านยาภายใต้ระบบนี้ ในส่วนของยากำพร้าและยาต้านพิษ สปสช. จะบริหารเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าถึงยา ไม่ว่าจะอยู่ในสิทธิการรักษาใด แต่ในส่วนของบัญชียา จ.2 ยังครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ซึ่งควรที่จะรวมการจัดซื้อยาหรือให้เบิกจ่ายยาจากระบบของ สปสช. โดยโรงพยาบาลจ่ายคืนค่ายาในภายหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์และครอบคลุมผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และเรื่องนี้ได้เคยนำเสนอต่อ สปสช. แล้ว และมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป” ภก.อำนวย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่