xs
xsm
sm
md
lg

กระจายยาต้านพิษผ่าน “เว็บเบส” เพิ่มทางรอดชีวิต-ลดงบสำรองยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งต่างสำรองยาต้านพิษเอาไว้เอง แน่นอนว่าเมื่อได้ยินเช่นนี้แล้วผู้ป่วยอาจรู้สึกอุ่นใจ ที่ย่างน้อยเมื่อเกิดเจ็บป่วยจากการถูกพิษ เช่น พิษงู ก็จะมีเซรุ่มไว้ฉีดช่วยรักษาได้อย่างทันท่วงทีในพื้นที่ แต่รู้หรือไม่ว่าการสำรองยามากๆ เช่นนี้ ก็ทำให้ประเทศแบกรับภาระค่าซื้อยาจนหลังแอ่นเช่นกัน

หนทางที่ดีกว่า อาจเป็นการสำรองยาต้านพิษเพียงแต่เฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ แล้วมีระบบที่ให้ทุกโรงพยาบาลในการค้นหาว่า เมื่อทราบแล้วว่าผู้ป่วยได้รับพิษชนิดใด หากที่โรงพยาบาลไม่มียา แต่โรงพยาบาลที่ใกล้เคียงที่สุดที่ไหนที่มีการสำรองยาต้านพิษชนิดนี้ และประสานในการขอยามาใช้โดยเร็วที่สุด
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี  ภาพจากเว็บไซต์ http://med.mahidol.ac.th/th/news/events/03142014-1424-th
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวประเทศไทยก็มีการวางระบบอยู่ แต่ผู้คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักกันมากเท่าไร นั่นคือ ระบบ “เว็บเบส (Web Base)” ซึ่ง ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี อธิบายว่า เป็นฐานข้อมูลที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการสำรองยากำพร้าเกี่ยวกับยาต้านพิษ ซึ่งในเว็บเบสจะมีข้อมูลอยู่ว่าโรงพยาบาลใดมีการสำรองยาต้านพิษใดไว้บ้าง และเป็นจำนวนเท่าไร เมื่อมีผู้ป่วยได้รับพิษและวินิจฉัยทราบว่าเป็นพิษอะไร ต้องการยาต้านพิษชนิดใด ก็สามารถเข้าไปค้นหาภายในเว็บเบสได้ โดยสามารถระบุพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลได้ว่าต้องการให้ค้นหาภายในพื้นที่กี่กิโลเมตร เช่น 20-30 กิโลเมตร เป็นต้น หากโรงพยาบาลบริเวณดังกล่าวมีการสำรองยาต้านพิษที่ต้องใช้ก็จะแสดงรายชื่อโรงพยาบาล และเบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อประสานขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม หากบุคลากรแต่ละโรงพยาบาลไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้เว็บเบส ก็สามารถโทรศัพท์มาสอบถามศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดีได้ทุกวันทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การช่วยพิจารณาวินิจฉัยว่าได้รับพิษชนิดใด จนไปถึงประสานขอยาต้านพิษจากโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงที่สุดได้

ศ.นพ.วินัย กล่าวอีกว่า การสำรองยาต้านพิษตามโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสภากาชาดไทย ซึ่งจะวางแผนว่ายาต้านพิษตัวไหนที่มีความจำเป็นและเร่งด่วน หรือควรเก็บสำรองยาไว้ที่ใด ซึ่งขณะนี้มียาที่ทำการสำรองคือ โบทูลินัม แอนติท็อกซิน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ได้รับพิษชนิดนี้เกิดจากการกินหน่อไม้ปี๊บ โดยแต่ละปีจะพบประมาณ 4-5 ราย จึงมีการสำรองยาไว้ปีละประมาณ 10 ราย ซึ่งยาตัวนี้ราคาขวดละ 1.5 แสนบาท การรักษาต้องใช้ยา 2 ขวด ตกคนละประมาณ 3 แสนบาท การสำรองยานี้จึงใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท

ยานี้ถือเป็นยากำพร้า เพราะมีราคาสุงมากและไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ ประสบการณ์ครั้งสำคัญเลยคือปี 2006 ที่มีผู้ป่วยจากเชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื้อตัวนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมไปถึงกล้ามเนื้อที่ใช้นในการหายใจ หากรุนแรงก็ทำให้หายใจเองไม่ได้ ซึ่งปีนั้นมีผู้ป่วยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมากถึง 40 กว่าคน ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 50-60 คน กรมควบคุมโรคต้องหาซื้อยาดังกล่าวจากหลายประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อการรักษา ซึ่งกว่ายาจะเดินทางมาถึงก็ใช้เวลาถึง 6 วันหลังจากมีอาการป่วย จึงเป็นบทเรียนให้เรารู้ว่าจะต้องมีการสำรองยา ซึ่งเราได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยจะสำรองไว้ที่ศูนย์พิษวิทยา เมื่อมีผู้ป่วยก็สามารถโทรศัพท์มาประสานเพื่อส่งยาได้ หากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงก็สามารถส่งได้ผ่านรถฉุกเฉิน หากทางไกล อย่างกรณีที่สมุย ก็จักส่งทางเครื่องบิน ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ อภ.ในการช่วยประสานรับส่งในพื้นที่ เนื่องจากมีศูนย์ของ อภ. อยู่ทั่วทั้งประเทศไทย ซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญในการจัดส่งยาอยู่แล้ว

ศ.นพ.วินัย เปิดเผยด้วยว่า นอกจากยาโบทูลินัม แอนติท็อกซินแล้ว ยังมีการสำรองยาต้านพิษไซยาไนด์ 2 ตัว ยาต้านพิษที่เกิดจากภาวะได้รับสารพิษหลายชนิดปนกันเรียกว่า “เมธฮีโมโลบินีเมีย” และล่าสุดได้มีการสำรองเซรุ่มแก้พิษงูด้วย ซึ่งการสำรองไว้จำนวนเท่าไร ที่ไหนบ้าง จะพิจารณาจากความชุกของโรค และราคาของยา ซึ่งยามีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักแสนทำให้ยาบางตัวสำรองได้มากน้อยต่างกัน บ้างสำรองที่โรงพยาบาลศูนย์ บ้างสำรองที่โรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งการสำรองยาเพียงแค่บางแห่งเท่านั้น กระบวนการนี้ช่วยให้ประหยัดงบประมาณการสำรองยาได้ถึง 1 ใน 4 ของงบการจัดซื้อยาทั้งหมด และเมื่อมีความต้องการใช้ยาก็เพียงอาศัยเว็บเบสในการหาข้อมูลประสานขอยา

ความรู้สึกของผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยยาต้านพิษจากโครงการนี้ ผมไม่เคยได้พูดคุยด้วย เพราะหน้าที่การทำงานของผมตรงนี้เหมือนการปิดทองหลังพระ คือเพียงให้คำแนะนำ ช่วยวินิจฉัย และประสานจัดส่งยาให้เท่านั้น แต่ที่แน่ชัดก็คือโครงการนี้ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาและเข้าถึงยามากกว่าเมื่อก่อน การรอดชีวิตจากภาวะพิษก็ดีขึ้นมาก จากที่เมื่อก่อนบางครั้งไม่มีความหวังเลย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น