xs
xsm
sm
md
lg

โรคธาลัสซีเมีย รู้น้อย แต่เป็นมาก / คอลัมน์ Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทั้งๆ ที่เป็นโรคซึ่งมีคนไทยเป็นกันเยอะมาก แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมีย กลับมีคนรู้น้อย รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง/หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา/ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า โรคนี้เป็นการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ลักษณะก็คืออาการซีด โลหิตจาง ดังนั้น หลายคนจึงเรียกโรคนี้ว่าโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย

โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดผิดปกติ จึงทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ แตกง่าย ถูกทำลายง่าย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงมีเลือดจาง โรคนี้พบได้ทั้งหญิงและชายปริมาณเท่าๆ กัน ถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ทางพันธุกรรมพบได้ทั่วโลก และพบมากในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ร้อยละ 1 และพบผู้ที่มีพาหะนำโรคถึงร้อยละ 30-40 คือประมาณ 20-25 ล้านคน เมื่อพาหะแต่งงานกันและพบยีนผิดปกติร่วมกัน ก็อาจมีลูกที่เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งประมาณการว่าจะมีคนไทยเป็นมากถึง 500,000 คน โรคนี้ทำให้เกิดโลหิตจางโดยเป็นกรรมพันธุ์ของการสร้างเฮโมโกลบิน ซึ่งมีสีแดงและนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่างๆ

วิธีการสังเกตว่าใครเป็นหรือไม่เป็น หรือว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ ให้ดูจากผลการตรวจเลือดประจำปีว่ามีความผิดปกติของเม็ดเลือดหรือไม่

ส่วนอาการที่สังเกตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการซีด ตาขาวสีเหลือง ตัวเหลือง ตับโต ม้ามโต ผิวหนังดำคล้ำ กระดูกใบหน้าจะเปลี่ยนรูป มีจมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มนูนสูง คางและขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น กระดูกบาง เปราะ หักง่าย ร่างกายเจริญเติบโตช้ากว่าคนปกติ แคระแกร็น ท้องป่อง ในประเทศไทยมีผู้เป็นโรคประมาณร้อยละ 1 ของประชากรหรือประมาณ 6 แสนคน

โรคเลือดจางทาลัสซีเมียมีอาการตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ จนถึงมีอาการรุนแรงมากที่ทำให้เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 1 วัน ผู้ที่มีอาการจะซีดมากหรือมีเลือดจางมาก ต้องให้เลือดเป็นประจำ หรือมีภาวะติดเชื้อบ่อยๆ หรือมีไข้เป็นหวัดบ่อยๆ ได้ มากน้อยแล้วแต่ชนิดของทาลัสซีเมียซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแอลฟา-ทาลัสซีเมีย และเบต้า-ทาลัสซีเมีย

สำหรับผู้สงสัยว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ควรพบและปรึกษาแพทย์ หรืออย่างน้อยที่สุด การตรวจสุขภาพประจำปี จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้ เพราะจะทำให้รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนต่อโรคนี้ ขณะที่วิธีการรักษาในปัจจุบัน ก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้เลือด การเปลี่ยนถ่ายกระดูก การเปลี่ยนยีน ฯลฯ ซึ่งสิ่งนี้ควรได้รับชี้แนะจากแพทย์โดยตรง

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo




กำลังโหลดความคิดเห็น