xs
xsm
sm
md
lg

โรคไบโพลาร์ กับวิธีสังเกต ใครเป็น-ไม่เป็น?/Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่แน่ว่าจะรู้จักกับโรคนี้ดีพอ จากสถิติพบว่า การเกิดขึ้นของโรคไบโพลาร์ในประเทศไทย มีผู้ป่วยอยู่ประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หรือราวๆ 6 แสนคนที่ป่วยด้วยโรคนี้
นพ.วันชัย กิจอรุณชัย จิตแพทย์สถานพยาบาลมายด์เมด ให้ความรู้ว่า โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ซึ่งจะเหวี่ยงไปมาระหว่างภาวะอารมณ์สองขั้ว ขั้วที่หนึ่งคือมีภาวะอารมณ์เศร้าอย่างรุนแรง ส่วนขั้วที่สองจะมีภาวะอารมณ์ร่าเริงผิดปกติ หรือบางครั้งจะมีอาการในแบบที่เรียกว่าคลุ้มคลั่ง
“แต่ทั้งนี้ การแสดงอาการจะต้องมีความยาวนานเป็นสัปดาห์ๆ ไม่ใช่แค่วูบวาบ และถ้าจะให้แพทย์วินิจฉัยก็ต่อเมื่อมีผลกระทบในหน้าที่หลัก เช่น ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมาก อย่างคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เวลาซึมเศร้ามากๆ เขาจะรู้สึกทุกข์ทรมาน หรืออาจจะมีผลเสียหายต่อหน้าที่การงาน การเรียน ไปจนถึงสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง”
นพ.วันชัย กล่าวว่าโรคไบโพลาร์ไม่เหมือนกับโรคจิตทั่วไป เพราะไบโพลาร์เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์ สุขหรือทุกข์ผิดปกติ สาเหตุแท้จริงอาจยังระบุไม่ได้แน่ชัด แต่ข้อมูลทางการแพทย์บอกว่าคนที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วนี้จะมีความผิดปกติในระดับสารสื่อประสาท หรือสารเคมีในสมองซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ ความคิด หรือพฤติกรรม มีความผิดปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่าพันธุกรรมก็มีบทบาทต่อการเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน เช่นเดียวกับความตึงเครียด การสูญเสีย ใช้สารเสพติด หรือใช้ยาบางตัว ก็นำไปสู่โรคนี้ได้
“วิธีสังเกตผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ขั้วอารมณ์ที่หนึ่ง ผู้ป่วยจะมีสีหน้าอารมณ์เศร้า หดหู่ บางคนอาจจะรู้สึกตื่นเต้นตกใจง่าย หงุดหงิด ความสนใจที่จะพูดคุยกับคนอื่นลดลงอย่างมาก เกิดความเบื่อหน่าย กิจกรรมที่เคยชอบ เคยสนุกสนาน ลดลงอย่างมาก เช่น เคยดูทีวี เคยออกกำลังกาย ก็จะลดลง พลังเรี่ยวแรงลดลงอย่างมาก รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยหน่าย ไม่อยากทำอะไร”
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเรื่องความจำ สมาธิไม่มี ลังเล ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายๆ ซึ่งสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ส่วนเรื่องการนอน นอนหลับยาก ตื่นเร็ว หรือบางคนอาจจะนอนมากเกินผิดปกติ นอนทั้งวัน หรือบางคนก็เบื่ออาหารหรือทานมากกว่าปกติจนผิดสังเกต มีการเปลี่ยนแปลงทางน้ำหนักอย่างรวดเร็วชัดเจน นอกจากนั้น ในส่วนของความคิด ยังรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความพยายามที่จะทำร้ายตัวเอง
“ส่วนอาการอีกขั้วที่เรียกว่าคลุ้มคลั่ง (Mania) กลุ่มนี้อาจจะมีอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร่าเริงมากเกินไป บางคนอาจจะมีความเชื่อมั่นตัวเองสูง หรือความคิดผิดปกติ คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือผู้อื่น และหงุดหงิดง่าย และมักจะมีการโต้แย้งโต้เถียงกับผู้อื่นเสมอๆ ลักษณะของอาการคลุ้มคลั่งจะทำให้มีพลังเยอะ ทำอะไรต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว ความคิดแล่นเร็ว เปลี่ยนเรื่องรวดเร็วอย่างมากด้วย ดังนั้น ไม่สามารถที่จะมีสมาธิ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ”
ขณะเดียวกัน ความต้องการมีเพศสัมพันธ์อาจจะสูงกว่าปกติ เป็นอาการที่เจอได้สูง เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจะทำอะไรโดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมาภายหลัง บางคนอาจจะแต่งตัวแต่งกายด้วยสีฉูดฉาด มีเครื่องประดับมากมายเกินกว่าจำเป็น หรืออาจจะลงทุนทั้งที่เห็นว่าเสี่ยงมาก รวมทั้งมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หากมีอาการดังว่ามาและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ นพ.วันชัย แนะนำว่าควรไปพบและปรึกษาแพทย์

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo


กำลังโหลดความคิดเห็น