xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “คอการเมือง-ชาวนา” เผชิญชุมนุม-วิกฤตจำนำข้าว เสี่ยงซึมเศร้าฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตแพทย์เตือนชุมนุมการเมือง-วิกฤตจำนำข้าว เสี่ยงป่วยโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตายได้ เหมือนเคสผู้ใหญ่บ้านศรีสะเกษ และชาวนาร้อยเอ็ด สธ.เร่งส่ง 853 ทีมดูแลจิตใจผู้ประสบปัญหาเหตุต่างๆ ป้องกันฆ่าตัวตาย แนะออกกำลังกาย พูดคุยกับคนในครอบครัว ปรึกษาแพทย์
นายเมือง พันธุชาติ อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 21 บ.อาวอยพัฒนา ต.โสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เครียดจำนำข้าวไม่ได้เงินผูกคอฆ่าตัวตายสังเวยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 ม.ค. (แฟ้มภาพ)
วันนี้ (29 ม.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีข่าวชาวนา 2 ราย ที่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.ร้อยเอ็ด ผูกคอตายเนื่องจากความเครียดระหว่างรอเงินจำนำข้าวเปลือก และต้องเป็นหนี้สินนอกระบบ ว่า ช่วงนี้ไทยอยู่ในสถานการณ์การชุมนุมทั้งการเมืองและเรื่องจำนำข้าวส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งข้อมูลกรมสุขภาพจิตปี 2550-2553 พบคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5.9 คนต่อหนึ่งแสนประชากร ปี 2554 เพิ่มเป็น 6.03 คนต่อหนึ่งแสนประชากร และปี 2555 เพิ่มสูงถึง 6.2 คนต่อหนึ่งแสนประชากร หรือปีละ 3,700-3,900 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าร้อยละ 2.3-2.7 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว แต่มีอัตราการเข้าถึงบริการน้อยเพียงร้อยละ 29 ของผู้ป่วย เพราะประชาชนมีอคติไม่อยากพบจิตแพทย์ กลัวคนรอบข้างว่าเป็นบ้า

พญ.พรรณพิมลกล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิต ได้ตั้งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ในระดับอำเภอ ปัจจุบันมี 853 ทีม เป็นทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลจิตเวช เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิต และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ทั้งที่เกิดจากเหตุชุมนุม และภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นอกจากนี้ ปี 2557 สธ.ได้พัฒนาบริการการค้นหาและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นร้อยละ 31

ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย มักจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักจะถูกเยาะเย้ย ซ้ำเติม ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้โดยครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รับฟังปัญหาอย่างไม่ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ โดยปกติผู้ที่จะฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น การเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อ หรือทำร้ายตัวเอง แต่ก็มีบางรายที่ก่อนฆ่าตัวตาย ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

พญ.พรรณพิมลกล่าวด้วยว่า หากรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล นอนไม่หลับ หดหู่ท้อแท้ เบื่อไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไร ใจลอย ไม่มีสมาธิ เศร้า ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หัดมองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย พยายามออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงและสมองปลอดโปร่ง เพราะการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุขได้อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย นอกจากนี้ ขอให้พูดคุยระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิด ก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะปัญหาทุกเรื่องมีวิธีแก้ไขหาทางออกได้ หรือไปพบแพทย์ พยาบาลที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร.ปรึกษาทางสายด่วน 1323 จะมีพยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น