หลังคาแดงเผยงานวิจัย ผู้ป่วยติดสุราใช้ยาเสพติดร่วม และมีโรคจิตเวชร่วม เสี่ยงฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองมากกว่ากลุ่มอื่น ชี้ผู้ป่วยติดสุราที่มีโรคร่วมต้องได้รับการประเมินทุกราย เพื่อป้องกันและเฝ้าระวัง
น.ส.อุ่นจิตร คุณารักษ์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต นำเสนองานวิจัย เรื่อง พฤติกรรมฆ่าตัวตายในผู้ป่วยสุราที่มีโรคร่วมจิตเวช ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 ว่า พฤติกรรมการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญในผู้ติดสุรา โดยในประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 50 ของการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติด และมีความเสี่ยงทำร้ายตัวเองมากว่าคนกลุ่มอื่น 3.6 เท่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ 1 พ.ย.54 - 31 ม.ค.55 ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต จำนวน 410 คน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับสุราหรือแอลกอฮอล์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความคิดฆ่าตัวตาย 128 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 84.4 ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 31-40 ปี
น.ส.อุ่นจิตร กล่าวอีกว่า โรคร่วมที่พบว่าทำให้เกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายคือ โรคจิตเวช 77 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.2 โดยในช่วงการสำรวจ ในช่วง 1 เดือนก่อนมาโรงพยาบาลมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 18 ราย หรือร้อยละ 14.1 โดยในจำนวนนี้มีการดื่มสุราร่วมด้วย 11 ราย หรือร้อยละ 8.6 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมพบว่า ผู้ป่วยสุราที่มีโรคร่วมจิตเวช มีโรคซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน มีโรควิตกกังวล และโรคทางจิต มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายแตกต่างจากผู้ป่วยสุราที่ไม่มีโรคจิตเวชร่วมอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยสุราที่มีโรคจิตเวชร่วม เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่า 10.229 เท่า และผู้ป่วยสุราร่วมกับโรคซึมเศร้าจะเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ไม่มีโรคซึมเศร้า 4.418 เท่า และผู้ที่มีโรคอารมณ์แปร
ปรวนจะเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่า 2.186 เท่า ดังนั้นผู้ป่วยโรคสุราที่มีโรคร่วมควรได้รับการประเมินความเสี่ยงฆ่าตัวตายทุกราย เพื่อป้องกันและเฝ้าระวัง