xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมเป็นเหตุตาย 26 ราย! หลายพื้นที่น้ำเริ่มเน่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำท่วม! ตายแล้ว 26 ราย หลายพื้นที่น้ำท่วมเริ่มเป็นน้ำเน่า ส่งยอดผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าพุ่งกว่า 3.6 หมื่นราย สธ.แนะเลี่ยงการลุยน้ำ แต่หากป่วยแล้วสามารถรับยาฟรีได้ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พร้อมแนะ 3 วิธีดูแลคนไข้จิตเวชช่วงน้ำท่วม ป้องกันอาการกำเริบ

วันนี้ (1 ต.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 17-30 ก.ย.ให้บริการแล้ว 896 ครั้ง พบผู้เจ็บป่วย 36,634 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคทั่วไป มากที่สุดคือน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย และปวดศีรษะ ไม่มีรายใดอาการรุนแรง และไม่พบการระบาดของโรคติดต่อ และออกเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยตามหมู่บ้านชุมชนต่างๆ 46,117 ราย
น้ำท่วม (ภาพ www.siamintelligence.com)
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ระยะหลังบางพื้นที่เริ่มมีปัญหาน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมขังนานหลายวัน ทำให้ผู้ประสบภัยเป็นโรคน้ำกัดเท้า จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นขอให้รีบชำระล้างร่างกายให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วมือนิ้วเท้า แต่หากเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว มีอาการผิวหนังเปื่อย ลอก แดง คัน แสบ ขอให้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งจะมียารักษาโรคน้ำกัดเท้าแจกฟรี ขณะนี้ได้ส่งไปยังพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 195,000 ชุด และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 300,000 ชุด

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินทางจิตผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 3,032 รายใน 32 จังหวัด พบผู้มีความเครียดทั้งหมด 160 ราย จำนวนนี้เครียดในระดับสูง 24 ราย ให้ทีมเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาซึมเศร้า หรือการทำร้ายตัวเอง และจะส่งเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลสุขภาพจิตครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 26 รายและผู้สูญหายอีก 1 รายด้วย

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การลดผลกระทบด้านจิตใจ ขอให้ผู้ประสบภัยยอมรับว่าภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ขอให้สำรวจและวางแผนแก้ไขความเสียหายให้เป็นขั้นตอน โดยแก้ไขเรื่องง่ายและมีความจำเป็นก่อน ระหว่างนี้อย่าเก็บตัวอยู่ในบ้านคนเดียว ขอให้หาเพื่อนคุยปรับทุกข์ เพื่อจะได้ทราบว่าปัญหาไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว การพูดคุยจะช่วยเพิ่มกำลังใจและคลายความวิตกกังวลได้ และขอให้ออกกำลังกายในช่วงน้ำท่วม เช่น กายบริหาร ยืดเหยียดแขนขา จะช่วยสลัดความเบื่อหน่ายและความเมื่อยล้าลงได้ หากิจกรรมทำเพื่อลดความฟุ้งซ่าน และขอให้ญาติยึดหลัก 3 ประการในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ป่วยเรื้อรังทาง กายอื่นๆ ได้แก่ 1.ช่วยให้กำลังใจ 2.อย่าให้ขาดยา และ 3.อย่าทอดทิ้ง เพื่อป้องกันอาการกำเริบ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น