xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยป่วยอารมณ์ 2 ขั้วอย่างน้อย 1 ล้านคน น่าห่วงวินิจฉัยโรคผิดถึง 69%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยป่วยโรคไบโพลาร์ อารมณ์สองขั้วอย่างน้อย 1 ล้านคน แถมแนวโน้มเพิ่มขึ้น น่าห่วงใช้เวลาวินิจฉัยนาน แถม 69% วินิจฉัยผิดเป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์ชี้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ย้ำค้นเจอรักษาหาย

วันนี้ (27 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์ ประธานเครือข่ายโรคไบโพลาร์แห่งเอเชีย (ANBD) กล่าวในการจัดกิจกรรมวิชาการน่ารู้สู่ประชาชน เรื่อง “อารมณ์คงที่ ชีวีมีสุข (Stable Mood, Good Life)” เนื่องในวันไบโพลาร์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มี.ค.ของทุกปี โดยปีนี้เป็นปีแรก จัดโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย ชมรมเพื่อนไบโพลาร์และเครือข่ายโรคไบโพลาร์ของทวีปเอเชีย ว่า ทั่วโลกประมาณการว่ามีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ประมาณ 27 ล้านคน ส่วนไทย กรมสุขภาพจิตสำรวจระดับชุมชนพบว่าในปี 2546 มีผู้ป่วยราว 6 แสนคน ปี 2551 มีประมาณ 9 แสนคน เห็นได้ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีความเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น ปัจจุบันคาดว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์อย่างน้อย 1 ล้านคน พบได้ในทุกช่วงวัย

ปัญหาหนึ่งของโรคไบโพลาร์ คือใช้เวลานานในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ เฉลี่ย 4-5 ปี บางรายอาจนานถึง 10 ปี และมีถึง 69% ที่มีการวินิจฉัยผิดว่าเป็นซึมเศร้าหรือโรคจิตแทนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าโรคนี้แม้ว่ารุนแรง แต่ให้รีบค้นหา เพราะรักษาหาย ดังนั้น หากมีความสงสัยควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์” ศ.นพ.พิเชฐ กล่าว

ด้าน นพ.พิชัย อิฏฐสกุล แพทย์ประจำคลินิกโรคอารมณ์สองขั้ว ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ จะมีความผิดปกติทางอารมณ์โดยการแสดงออกทางอารมณ์รุนแรงกว่าปกติ เป็นอยู่นาน อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติได้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาการของผู้ป่วยจะมีอารมณ์สองขั้ว คือ ช่วงอารมณ์ขึ้นหรืออารมณ์ดีมากๆ คึกคัก (Mania /Hypomania) เช่น ความคิดแล่นเร็ว คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน วอกแวก มีความต้องการในการนอนน้อย คำพูดเร็ว เสียงดังใครขัดใจจะหงุดหงิด รู้สึกตัวเองมีพลังมาก มั่นใจในตัวเอง มีสิ่งที่อยากทำมากมาย แต่ทำสิ่งหนึ่งยังไม่เสร็จก็จะเปลี่ยนไปทำอีกสิ่งหนึ่ง และช่วงอารมณ์เศร้า (Depression) ซึมเศร้า พูดน้อย ความสนใจสิ่งต่างๆลดลง สมาธิแย่ลง การนอนผิดปกติ เชื่องช้าลง รู้สึกไร้ค่า อยากตาย เป็นต้น

นพ.พิชัย กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุของการป่วยที่ชัดเจน แต่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคมากขึ้น หากพ่อแม่คนใดคนหนึ่งป่วยโรคนี้ จะมีโอกาสป่วย 10-15% รวมถึงสิ่งแวดล้อม มีสิ่งมากระตุ้น เช่น ความเครียด อกหัก สอบตก เป็นต้น และการเปลี่ยนแปลงภายในสมอง ส่วนการรักษา จิตแพทย์จะให้ยา ควบคู่กับการรักษาทางด้านจิตใจ โดยช่วยให้คนไข้เรียนรู้และปรับตัวกับปัญหา และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจิตแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น