xs
xsm
sm
md
lg

สวทน.จับมือ สนง.เลขาธิการอาเซียนระดมความเห็นพัฒนาระบบนวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สวทน. จับมือสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จัดสัมมนา “ASEAN Talent Mobility Workshop” 27-28 มี.ค.ที่ภูเก็ต หารือความร่วมมือพัฒนาระบบนวัตกรรมของอาเซียน พร้อมส่งเสริมการเคลื่อนย้ายกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างอาเซียน และประเทศคู่เจรจา

วันนี้ (27 มี.ค.) ที่โรงแรมป่าตอง เมอร์ลิน ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ได้มีการจัดสัมมนา ASEAN Talent Mobility Workshop ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม 2557 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกอาเซียน สหภาพยุโรป เยอรมนี และเกาหลีใต้ ร่วมอภิปรายในประเด็นความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบนวัตกรรมของอาเซียน และแนวทางการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างอาเซียน และประเทศคู่เจรจา เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า ด้วย สวทน. มีบทบาทสูงในการขับเคลื่อนประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งภายในปีสองปีนี้ ก็จะเริ่มเห็นการก่อกำเนิดของประชาคมอาเซียน เมื่อเกิดประชาคมอาเซียนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือจะมีการเลื่อนไหลทั้งการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม รวมไปจนถึงเรื่องของกำลังคน

“เมื่อปีที่แล้วเราได้เสนอในที่ประชุมของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน ว่า มีความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องเริ่มมีความตระหนัก แล้วก็ร่วมมือกันในการเคลื่อนย้ายกำลังคนในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นี้ก็เป็นที่มาของการประชุมที่ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของอาเซียนที่มีการประชุมในเรื่องกำลังคน ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือ ASEAN Talent Mobility Workshop คำว่า Talent ก็คือคนเก่งในแต่ละประเทศของอาเซียน Mobility คือการเคลื่อนย้าย ซึ่งมีหลายลักษณะ”

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่เรามาหารือกันใน 2 วันนี้ ก็มีเกือบ 10 ประเทศ หารือร่วมกันว่า บริบทของการที่จะมาทำงานร่วมกันในการเคลื่อนย้ายกำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับสูงในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราควรจะคิดร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเคลื่อนย้าย เราจะอำนวยความสะดวกกันยังไง ถ้าจะเคลื่อนย้าย น่าจะมีหัวข้ออะไรที่น่าจะทำงานร่วมกันบ้าง รวมทั้งการศึกษาจากบทเรียนของภูมิภาคอื่นๆ ในการประชุมคราวนี้เราก็เลยได้มีการเชิญหน่วยงานนอกอาเซียนมาด้วย ยกตัวอย่าง เช่น สหภาพยุโรป ประเทศเยอรมนี รวมไปจนถึงประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ทางด้านนี้มากบ้างน้อยบ้าง ในขณะนี้สิ่งที่เราคุยกัน ก็คือ ว่าถ้าหากเอาอาเซียนเป็นตัวตั้ง เอาขีดความสามารถของอาเซียน รวมไปจนถึงกำลังคนที่อาเซียนมี จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ จะเป็นวิศวกร จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดดีๆ อยากจะทำธุรกิจ เราจะแลกเปลี่ยน เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร

“วันนี้เป็นวันแรกของการประชุม ก็มีการหารือกันอย่างหลากหลาย กว้างขวางได้ประโยชน์ ได้ข้อมูลมากมาย สิ่งที่เราคาดหวังว่าเมื่อสิ้นสุดการประชุมในวันพรุ่งนี้ (28 มี.ค.) สิ่งที่เราจะได้ คือ 1.เราจะเริ่มมีข้อมูลที่เป็นเรื่องเป็นราว 2.เราจะเริ่มเห็นประเด็น หรือปัจจัยเชิงนโยบายว่ารัฐบาลทั้ง 10 ประเทศควรจะมีนโยบายเรื่องการเคลื่อนย้ายกำลังคน ที่มีประโยชน์ร่วมกันทั้ง 10 ประเทศได้อย่างไร 3.เราอาจจะเริ่มช่วยกันคิดว่าจะมีโครงการอะไรบ้างที่เราสามารถริเริ่ม และทำงานร่วมกันได้ ทั้งหมดนี้นอกเหนือจากเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ก็ยังมีประโยชน์ต่อประเทศไทยมหาศาล ซึ่งก็น่ายินดี ถ้าหากเราคิดได้ล่วงหน้าเมื่อเกิดประชาคมอาเซียนในปี 2015 เราก็น่าจะมีจุดยืนที่ดีมีแนวคิดของการพัฒนากำลังคนที่ตรงเป้า รวมไปจนถึงได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนอาเซียนของเราอีก 9 ประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ ก็เป็นประโยชน์แก่ทุกๆ ฝ่าย” ดร.พิเชฐ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะจากผลการประชุมครั้งนี้ สวทน.จะนำเสนอต่อคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน ในการประชุมครั้งต่อไป ในเดือน เม.ย.57 ณ ประเทศสิงคโปร์ และที่ประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน ในเดือน ส.ค.57 ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนานโยบาย และโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และรวมถึงพัฒนามาตรการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างอาเซียน และประเทศคู่เจรจา

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น