xs
xsm
sm
md
lg

7 พฤติกรรมทำได้ ป้องกัน “โรคกรดไหลย้อน”/Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สังคมปัจจุบัน นอกจากจะต้องเผชิญกับความเครียดแล้ว ยังต้องทำกิจวัตรต่างๆ อย่างรีบเร่ง ซึงรวมถึงการรับประทานอาหาร หลายท่านอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่ทราบหรือไม่ยังมีภัยซ่อนเร้นที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างสูงหลายโรค และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคกรดไหลย้อน”
จากบทความและคำให้สัมภาษณ์ของ รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลไว้ว่า โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้
“สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เช่น หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่มีการกลืนอาหาร ซึ่งสาเหตุนี้ถือเป็นภาระสำคัญของโรคนี้ ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น เกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร และนอกจากนั้น อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม”
โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กำลังตั้งครรภ์ เป็นโรคผิวหนังแข็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุที่เสริมปัจจัยสี่ยงได้เช่นกัน ส่วนใน “เด็ก” สามารถพบได้ตั้งแต่วัยทารกจนถึงเด็กโต ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังจากดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้
“อาการสำคัญ คือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ ซึ่งจะเป็นมากขึ้นภายหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย นอกจากนี้ ยังมีอาการเรอเปรี้ยว นั่นเพราะมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก โดยคนไข้อาจมีทั้ง 2 อาการหรืออาการใดอาการหนึ่งก็ได้”
วิธีดูแลรักษาเมื่อต้องเผชิญกับโรคนี้ รศ.นพ.สมชาย แนะนำว่า โดยทั่วไป เป้าหมายของการรักษา แพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น รักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน การรักษาประกอบไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้อง รักษาและการผ่าตัดโดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
1.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
2.หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต
3.ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป
4.ระวังอาหารมื้อเย็น ไม่รับประทานในปริมาณมากและไม่ควรนอนทันที เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
5.ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
6.ไม่ใส่เสื้อรัดรูปเกินไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
7.นอนตะแคงซ้ายและนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo


กำลังโหลดความคิดเห็น