xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ ผู้หญิงอ้อนแก้ปัญหาลวนลามช่วงสงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลชี้วัยรุ่นหญิงกว่าร้อยละ 70 ขอให้แก้ปัญหาลวนลาม-ฉวยโอกาสสงกรานต์ อึ้ง! เกินครึ่งให้ความสำคัญกว่าเทศกาลอื่น ด้าน สคล.เผยปัจจัยหลักยังมาจากสุรา ชูพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าช่วยลดปัญหาได้จริง

วันนี้ (4 เม.ย.) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อเวลา 10.00 น.นักศึกษาจากเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์รับมือปัญหาสงกรานต์ ภายใต้แคมเปญ “สาดไม่ฉวยโอกาส สาดไม่ดื่ม” ในงานมีกลุ่มเยาวชนแต่งกายล้อเลียนเสียดสีสงกรานต์เสื่อม-เมา-ลวนลาม-ไม่ปลอดภัย จากนั้นได้ร่วมกันปล่อยขบวนเดินรณรงค์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อรณรงค์เล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัยหยุดฉวยโอกาสไม่ดื่มสุรา ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 150 คน

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เปิดเผยผลสำรวจ “มุมมองวัยรุ่นหญิงต่อปัญหาการคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค.57 จำนวน 800 ตัวอย่าง พบว่า เทศกาลที่วัยรุ่นหญิงชื่นชอบและให้ความสำคัญมากที่สุด ยังคงเป็นเทศกาลสงกรานต์ 57.81% รองลงมา วันขึ้นปีใหม่ วาเลนไทน์ ลอยกระทง ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญเรื่องการสาดน้ำประแป้ง 35.37% รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 35.12% ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ 11% สามารถแตะเนื้อต้องตัวกันได้ 8.12% การแสดงออกอย่างเสรี 6% การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.39% ส่วนปัญหาที่มักเกิดขึ้นในวันสงกรานต์ คือ การลวนลาม คุกคามทางเพศ 33.91% อุบัติเหตุ 30.56% ทะเลาะวิวาท 18.60% สาดน้ำรุนแรง 12.12%

กลุ่มตัวอย่างกว่า 36.37% เชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า หากทุกฝ่ายไม่มีมาตรการป้องกัน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นและรุนแรงมากที่สุดคือการลวนลามคุกคามทางเพศ โดย 70.75% มองว่าต้องเร่งแก้ไข ขณะเดียวกัน 11.37% ยังมองเป็นเรื่องปกติ 10.12% เป็นเทศกาลแห่งโอกาสใครๆ ก็ทำ และ 7.76% จะทำอะไรก็ได้ไม่ต้องสนใจกฎหมาย เมื่อถามถึงปัจจัยทำให้การลวนลามคุกคามทางเพศเกิดขึ้น กลุ่มตัวอย่าง 47.12% ระบุว่า มาจากการดื่มสุรา 13.39% เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย 9.50% เพื่อนยุยงส่งเสริมและมีค่านิยมที่ผิดไม่ให้เกียรติไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น 9.37% มีแนวคิดชายเป็นใหญ่และ 8.87% พึ่งยาเสพติด อย่างไรก็ตามแนวทางที่สามารถป้องกันได้ กลุ่มตัวอย่างระบุว่างดขายงดดื่มสุรา 29.81% บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 23.23% และรณรงค์สร้างค่านิยมที่ดี 21.27%

ด้าน เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การสร้างพื้นที่เล่นน้ำอย่างปลอดภัยถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุ ลวนลาม เพราะเชื่อว่าคนทุกเพศทุกวัยต่างต้องการพื้นที่เล่นน้ำที่สนุกสนามไม่ต้องระแวงคนเมาสุราที่ดื่มจนเกินเลย เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาท ดังนั้น เจ้าภาพหลักที่จัดงานต้องสร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า รวมถึงภาครัฐต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และกฎหมายอาญาว่าด้วยการอนาจาร และเร่งประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง

“อยากเชิญชวนคนไทยใช้โอกาสนี้เป็นวันพักผ่อน อยู่กับครอบครัว รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และขอให้ร่วมกันเปลี่ยนค่านิยมสร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ไม่ขายไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่นพื้นที่ถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวที่นำร่องทำและได้ผลมาแล้ว คือ ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ถนนข้าวเมา จ.มหาสารคาม ถนนถนนข้าวแต๋น จ.น่าน ฯลฯ และพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ วัดอรุณ ลานคนเมือง เป็นต้น” ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น