xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุมประพฤติจับมือ สสส.-สคล.รณรงค์"มอเตอร์ไซค์งดเหล้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมคุมประพฤติ จัดกิจกรรมรณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย มอเตอร์ไซค์งดเหล้า" เพื่อเชิญชวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับขี่หรือซ้อนท้าย รวมถึงตระหนักต่อพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์
นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ซึ่งครอบคลุมถึงรถจักรยานยนต์ ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และรณรงค์ดื่มไม่ขับในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา วันที่ 27 ธันวาคม 2556 - 2 มกราคม 2557 มีสถิติคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่ศาลมีคำสั่งคุมประพฤติจำนวน 4,508 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุราจำนวน 3,797 คดี คดีขับรถประมาทจำนวน 24 คดี และคดีอื่นๆ 687 คดี เมื่อเปรียบเทียบคดีขับรถขณะเมาสุรา เทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2556ซึ่งมีจำนวน 4,635 คดี พบว่าสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราลดลงร้อยละ 18.07
ทั้งนี้ จากสถิติสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ช่วงวันที่ 11 - 17 เมษายน พบผู้กระทำผิดคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่ศาลสั่งคุมประพฤติทั่วประเทศ 4,862 คดี เกือบทั้งหมดเป็นคดีเมาแล้วขับ 4,691 คดี ตามมาด้วยคดีขับรถประมาท 63 คดี และคดีอื่นอีก 108คดี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 ซึ่งมีคดีเมาแล้วขับ 5,005 คดี พบว่าสถิติเมาแล้วขับลดลงร้อยละ 6.27 โดยจังหวัดที่มีคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก มากที่สุด คือ กรุงเทพฯ 416 คดี
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 78.71 ซึ่งพฤติกรรมการดื่มแล้วขี่และซ้อนท้ายของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เป็นพาหนะเป็นปัจจัยหลักของอุบัติเหตุ ที่สำคัญการเล่นน้ำสงกรานต์กับผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ปกติมีความเสี่ยงจากถนนลื่นจากการเปียกน้ำและแป้งอยู่แล้ว แต่จะอันตรายมากขึ้นหลายเท่าเมื่อทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อนท้ายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่นับรวมพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาท ซึ่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น
ส่วนนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวระหว่างเสวนา "มอเตอร์ไซค์+สุรา ความสูญเสียสงกรานต์หายนะที่หยุดไม่ได้จริงหรือ" ว่า กลุ่มที่เกิดปัญหาอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จากข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปีที่ผ่านมาช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตราย พบว่ามีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทางบก 3,040 ราย และเสียชีวิต 321 ราย ถือว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องทุกปีคือ เมาสุรายังเป็นสาเหตุหลัก คิดเป็นร้อยละ 39.11 รถจักรยานยนต์ยังเป็นเจ้ายานพาหนะ อันตรายมากถึงร้อยละ 70-80 ของอุบัติเหตุทุกปี
ขณะที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะกระทำผิดและถูกดำเนินคดีเมาสุรา 14,514 คดี สูงขึ้นจากปี 2555 จำนวน 681 คดี และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่ารถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงมากกว่ารถยนต์สี่ล้อถึง 4 เท่า ที่สำคัญผู้ขับขี่กว่าครึ่งคิดว่าไม่จำเป็นต้องใส่หมวก เพราะไปใกล้ๆ ร้อยละ 25 คิดว่าการขี่ย้อนศรไม่อันตรายหากเพิ่มความระวัง ขณะที่ร้อยละ 20 มองว่าการดื่มแต่ยังครองสติได้ก็ยังพอขี่รถได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น