สน.พระอาทิตย์
กลายเป็นประเด็นบานปลาย ขยายวงกว้างไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง หลังเกิดกระแสข่าวกระฉ่อนในสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็วตลอดช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้วยเนื้อหาข้อความตามโพสต์ตำรวจจะจับกุมรถที่ติดธงชาติ ทำให้สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมาะสมมากน้อยเพียงใด รวมทั้งเกิดคำถามติดธงชาติที่รถผิดกฎหมายด้วยหรือ?
ตรวจเช็คที่มากระแสข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นจากที่พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และพล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) เรียกประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร้นซ์ กับรอง ผบก.น.1-9 รองผบก.จร. เพื่อวิเคราะห์สภาพการจราจรแต่ละพื้นที่นำไปสู่การแก้ปัญหากาจราจรในภาพรวม
โดยมีข้อสั่งการให้ทุกท้องที่สอดส่องจับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่ติดธงชาติออกมาวิ่งสร้างความปั่นป่วน หรือก่อเหตุวุ่นวายบนท้องถนน โดยให้ใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในการจับกุม และให้รายงานผลการดำเนินจับกุมในเวลา 12.00 น. และเวลา 15.00 น. เพื่อให้สามารถนำรายงานต่อ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.รับทราบ
จากนั้นพล.ต.ต.อดุลย์อกมาย้ำผ่านสื่อระบุว่า เป็นที่ทราบวันว่าแกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศประชาสัมพันธ์ให้มีการติดธงชาติที่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ และให้ขับออกมาปั่นป่วนสร้างความวุ่นวายบนท้องถนน ก็ได้มอบให้ทุกท้องที่สอดส่องดูแลอย่าให้มีการดำเนินการลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้น เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาต่อการจราจร โดยสามารถใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ จับกุมกวดขันได้ ทั้งในข้อหาจอดรถกีดขวาง จอดรถในที่ห้าม ขับรถกีดขวางการจราจร ขับรถ ประมาทหวาดเสียวก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น ทั้งนี้กำชับให้จับกุมเฉพาะรถติดธงชาติที่มีลักษณะปั่นป่วน หรือก่อเหตุวายวาย หรือไปเกะกะระรานผู้อื่นเท่านั้น แต่ถ้าติดธงชาติที่รถแล้ววิ่งสัญจรไปมาตามปกติก็ไม่เป็นไร จะไม่มีการจับกุมใดๆ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงกลายเป็นที่มาของข่าวลือในโลกออนไลน์ ที่มีการส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว กลายประเด็น “ตำรวจจะจับกุมรถที่ติดธงชาติ”ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ และบานปลายถึงขั้นที่แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)นำมวลชนเดินทางไปที่สน.นางเลิ้ง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมรถยนต์ที่ติดธงชาติ
แม้ขนาด “นายตำรวจระดับสูง” อย่างพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ออกมาช่วยยืนยันข้อมูลที่เผยแพร่ทางโซเชียลเน็มเวิร์กอาจเกิดความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีนโยบายดังกล่าว รวมทั้ง บช.น.ก็เช่นเดียวกัน
“การติดธงชาติไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด” คำยืนยันอย่างหนักแน่นจากรองฯวรพงษ์
แต่ดูเหมือนว่า คำยืนยันจะไม่มีผล เพราะโลกออนไลน์ต่างก็ยังมีการโพสต์ข้อความวิพากษ์ประเด็นตำรวจจับรถติดธงชาติอย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ และส่วนใหญ่ก็อยู่ในท่วงทำนองตำหนิเสียมากกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าธงชาติไทยคือสัญลักษณ์ของความเป็นไทย คนไทยทุกคนย่อมนำมาใช้อย่างเหมาะสมเพื่อแสดงความเป็นคนไทยได้
นอกจากนี้ยังลุกลามไปถึงขนาด เครือข่ายนักศึกษาประชาชน ปฏิรูป ประเทศไทย ออกเดินเท้าไปตรวจตำรวจทุกด่าน ในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง พร้อมทั้งนำธงชาติไทย ไปปักทุกแนวแบริเออ และประกาศในสัปดาห์นี้จะเอาธงชาติไปติดหน่วยราชการทุกหน่วย
ต้องยอมรับว่า ประเด็น “ตำรวจจะจับกุมรถที่ติดธงชาติ”ที่เผยแพร่กระหึ่มตามโลกออนไลน์ขณะนี้ และลุกลามเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นในช่วงสถานการณ์การชุมนุมที่ร้อนแรง หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว ตำรวจไม่ได้จับกุมรถที่ติดธงชาติ อย่างที่มีการส่งต่อข้อความกันแต่อย่างใด เพราะย้อนขึ้นไปดูเนื้อหำสัมภาษณ์ของพล.ต.ต.อดุลย์ ที่ดูแลงานการจราจร ก็ระบุชัดเจนว่า ให้จับกุมเฉพาะรถติดธงชาติที่มีลักษณะปั่นป่วน หรือก่อเหตุวายวาย หรือไปเกะกะระรานผู้อื่นเท่านั้น แต่ถ้าติดธงชาติที่รถแล้ววิ่งสัญจรไปมาตามปกติก็ไม่เป็นไร จะไม่มีการจับกุมใดๆ
ที่สำคัญข้อหาที่ตำรวจจับกุม คือ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ข้อหาจอดรถกีดขวาง จอดรถในที่ห้าม ขับรถกีดขวางการจราจร ขับรถประมาทหวาดเสียวก่อให้เกิดอันตราย พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ จับกุมกวดขันได้ ทั้งในข้อหาจอดรถกีดขวาง จอดรถในที่ห้าม ขับรถกีดขวางการจราจร ขับรถประมาทหวาดเสียวก่อให้เกิดอันตราย
ไม่ใช่ พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522 !!!
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นกระแสโด่งดัง เป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์ตำรวจ ก็เพราะมีการหยิบเนื้อหาคำสั่งการของตำรวจบางส่วนมา “จุดไฟ” จะด้วยจุดประสงค์ใดก็ตาม ทว่าสิ่งที่ทำให้ไฟจุดติด ไม่ใช่เพราะการตัดทอน หรือหยิบยกบางประเด็นมาเท่านั้น แต่เป็นเพราะตำรวจทำตัวของตัวเอง ให้สังคมไม่เชื่อมั่นและเกิดความหวาดระแวงตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะพฤติกรรมรับใช้ฝ่ายการเมืองจนอออกนอกหน้า จนลืมบทบาทและหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของตัวเอง
ยิ่งในสภาวะที่การเมืองกำลังร้อนแรง มีการชุมนุมทั่วทุกหัวระแหง กลุ่มต่อต้านรัฐบาลประกาศยกระดับการชุมนุม ประกาศจุดยืนในการอารยะขัดขืนต้านระบอบทักษิณ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บริหารสูงสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับมาสร้างเงื่อนไขพันคอตัวเองด้วยการทำบันทึกข้อความส่งไปถึงผู้บังคับบัญชาตำรวจทั่วประเทศให้แจ้งตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา แจ้งเรื่อง “ห้ามข้าราชการตำรวจเข้าร่วมชุมนุม”
ทั้งๆที่ตำรวจ 2 แสนกว่านายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่างก็รับรู้กฎ รู้ระเบียบปฎิบัติอยู่แล้วว่า การแต่งเครื่องแบบไปร่วมชุมนุมโดยเฉพาะเวลาราชการหรือนอกเวลาราชการไม่เหมาะสม แต่ถ้าเป็นเวลานอกราชการและไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ตำรวจเหล่านั้นก็มีสิทธิในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่สามารถแสดงออกตามความคิดเห็นส่วนตัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน การออกคำสั่งดังกล่าวจึงเหมือนเป็นการประกาศห้ามทั้งในและนอกเครื่องแบบทุกเวลากลายๆ
พฤติกรรม “เลือกข้าง”ของตำรวจเช่นนี้ ก็เลยเป็น “เชื้อไฟ”ชั้นดี ที่ไม่ว่าจะออกมาตรการใดๆมา สังคมก็เกิดความหวาดระแวง เพราะตำรวจไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนเสียแล้ว.