xs
xsm
sm
md
lg

ดู “ลีลา” ของ สหรัฐฯ และ อียู ในร่างทรงเอฟทีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ภญ.นุสราพร เกษสมบูรณ์
ร่าง เนื้อหาในการเจรจาการค้าเสรีที่เสนอโดยสหรัฐฯ ในนาม ทีพีพี และ สหภาพยุโรป ในนาม เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเผยแพร่ใน wikileak และ bilateral.org ล้วนสะท้อนภาพความพยายามกีดกันประชาชนของประเทศคู่เจรจาไม่ให้เข้าถึงยา ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่
รศ.ดร.ภญ.นุสราพร เกษสมบูรณ์
สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญมากในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) โดยมีจุดยืนที่ชัดเจนในการเปิดเสรีการค้า และมีความต้องการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นการรักษาอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ นับเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีกรอบการเจรจาที่กว้างมากกว่าการเปิดเสรีทางการค้าฉบับอื่นๆ และมีเนื้อหาการเจรจาในหลายประเด็นมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ สังคม และ การสาธารณสุข โดยเฉพาะในเรื่อง สิทธิบัตรยา สหรัฐฯ มีจุดยืนที่ชัดเจนในการพยายามผลักดันให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่ามาตรฐานทริปส์ (TRIPs) ขององค์กรการค้าโลก หรือเรียกว่า “ทริปส์พลัส” และมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงกว่าความตกลงการค้าเสรีที่สหรัฐอเมริกาเคยทำมาในอดีต เช่น กำหนดให้ระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่ระบุในมาตรฐานทริปส์ 20 ปี ขยายเวลาออกไปเป็น 25 ปี เป็นต้น
บทที่ว่าด้วย “ราคายา” แม้ว่า ชื่อบทจะเน้นที่ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการพิจารณา แต่ข้อบทนี้จะจำกัดบทบาทของภาครัฐในการเจรจาต่อรองราคายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่จะใช้ในระบบสุขภาพของประเทศคู่เจรจา เพราะในข้อบทดังกล่าวจะบังคับให้ประเทศภาคีต้องมีระบบบริหาร จัดการ และระบบอุทธรณ์ให้กับบริษัทยาที่เป็นเจ้าของยาที่มีสิทธิบัตร หากบริษัทเหล่านี้ไม่พอใจการกำหนดราคาจัดซื้อยาเข้ามาในระบบสุขภาพ สามารถนำไปเป็นเหตุฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามกลไกระงับ ข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน จนในที่สุดจะทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่กล้าต่อรองราคาในที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อภาระงบประมาณ และไม่สามารถเพิ่มการเข้าถึงการรักษาได้
นอกจากนี้ บทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน โดยเฉพาะการที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนไปฟ้องผ่านระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จะส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค การควบคุมยาสูบ การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมสารอันตรายต่างๆ
ตัวอย่างข้อเรียกร้องของทีพีพี ดังกล่าว เป็นในแนวทางเดียวกับ ข้อเสนอของสหภาพยุโรปในการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป เช่น ประเด็นขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้มากกว่า 20 ปี ยา และ การคุ้มครองการลงทุน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสหภาพยุโรปมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมจาก ทีพีพี เช่น เสนอให้ขยายขอบเขตสิ่งประดิษฐ์ที่ให้สิทธิบัตร ได้แก่ รูปแบบ (forms) วิธีการใช้ การวินิจฉัยโรค และการบำบัดรักษาโรคด้วยยาหรือการผ่าตัด และไม่ให้มีการมาตรการต่อรองราคาการค้าเสรี (ที่ไม่เสรี) แต่เป็นการค้าของประเทศ “ปลาใหญ่” ที่พยายามครอบงำ เศรษฐกิจ สังคม และ สุขภาพ ของ “ปลาเล็ก” รัฐบาลไม่ควรนำประเด็นทรัพย์สินทางปัญญามาเจรจาภายใต้การค้าเสรี ไม่ว่าจะทำในนาม ทีพีพีนำโดยสหรัฐอเมริกา หรือกับสหภาพยุโรป เนื่องจากข้อเรียกร้องที่ขอให้เพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าความตกลงทริปส์ ภายใต้องค์การการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ผู้บริโภค และประชาชนทั้งหมด อย่างรุนแรงและยาวนาน การเจรจาควรระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก กฎหมายไทย หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น