xs
xsm
sm
md
lg

มติรัฐสภาเห็นชอบกรอบเจรจาร่วมมือด้านภาษีไทย-สหรัฐฯ ให้แจงข้อมูลแหล่งรายได้คนในชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
รัฐสภาพิจารณากรอบเจรจาเพื่อความร่วมมือด้านภาษีไทย-สหรัฐฯ หลังมหาอำนาจขู่เรียกแวต 30% ชาติที่ไม่ทำ ประชาธิปัตย์ชี้มะกันมีแต่ได้ จี้แจงไทยได้อะไร แนะรวมตัวกับอาเซียนต่อรอง เชื่อแค่ฟื้นฟูถังแตก ยกแคนาดาเพื่อนบ้านยังด่าทำลายสิทธิ์การคลัง “กิตติรัตน์” อ้างแค่มาขอกรอบให้คลังไปทำต่อ ยันใช้แค่คนอเมริกันไม่ได้บีบบังคับสยาม ลั่นต้องเจรจาเพื่อประโยชน์แก่ชาติ ก่อนลงมติ 426 ต่อ 20 เห็นชอบ

วันนี้ (13 พ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณากรอบเจรจาเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอาการระหว่างประเทศและการปฏิบัติตามกฎหมายให้รายงานธุรกรรมทางการเงินบุคคลสัญชาติสหรัฐอเมริกาที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งมีผลประโยชน์ทางภาษี (Foreign Account Tax Compliance Act: FATCA) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐฯ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นผู้เสนอ

สาระสำคัญของร่างกรอบการเจรจาดังกล่าวที่ ครม.ส่งให้รัฐสภาที่มีจำนวน 2 หน้า คือ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของระบบภาษีผ่านการตรวจสอบทางบัญชีและแลกเปลี่ยนข้อมูลของแหล่งรายได้ของคนชนชาติระหว่างประเทศสหรัฐฯและประเทศคู่สัญญา โดยกำหนดให้สถาบันการเงินของประเทศคู่สัญญารายงานธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน และการประกันภัยบางประเภท นอกจากนี้ สถาบันการเงินในประเทศใดไม่ทำความตกลง FATCA จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 30% ของเงินที่อยู่ภายใต้ภาษีของประเทศสหรัฐฯ หรือในประเทศที่ทำความตกลงFATCA กับสหรัฐฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินไทย

ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายตั้งข้อสังเกต อาทิ โดย นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นประโยชน์โดยตรงของสหรัฐฯในการตรวจสอบว่ามีบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ คนไหนบ้างที่ได้มาประกอบธุรกิจในต่างประเทศที่มีลักษณะเข้าข่ายเลี่ยงภาษี ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ากรมสรรพากรของสหรัฐฯประมาณการเอาไว้ว่าจะได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีผ่านการทำมาตรการนี้ถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันคิดว่าหากไทยยอมรับกับมาตรการนี้จะต้องมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมให้กับสหรัฐฯด้วย ทั้งที่ข้อมูลลักษณะนี้ถือว่าเป็นความลับตามกฎหมายของไทย ดังนั้น มีความสงสัยว่าในอนาคตรัฐบาลจะขอแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

“สหรัฐฯได้พยายามทำข้อตกลงนี้กับหลายประเทศ แต่ไม่สามารถทำกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ เพราะจีนไม่เห็นด้วย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงให้ได้ไทยจะได้ประโยชน์อะไรหากให้ความเห็นชอบกับสหรัฐฯ และมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ถ้าจะทำข้อตกลงนี้กับสหรัฐฯควรให้ประเทศในอาเซียนรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับสหรัฐฯ ซึ่งคิดว่านน่าจะได้เปรียบมากกว่าการเจรจาเป็นรายประเทศ” นายเกียรติ กล่าว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มาตรการนี้เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อฟื้นฟูภาวะถังแตกของสหรัฐฯภายหลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหมือนกับที่สหรัฐฯพยายามทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership: TPP) ซึ่งรัฐบาลแคนาดาที่เป็นประเทศติดกับสหรัฐฯยังบอกว่ามาตรการ FATCA เป็นการบั่นทอนทำลายสิทธิความลับส่วนบุคคลและทำให้สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์กลายเป็นแขนขาหนึ่งของกรมสรรพากรสหรัฐฯ

“ไทยไม่เป็นประเทศกระจอกหรือลูกไล่ อย่าได้เอาแนวคิดสมัยล่าอาณานิคม หรือยุคสงครามเย็นมาใช้ ทางที่ดีควรใช้กลไกอาเซียนในการต่อรอง ขอร้องว่ารัฐบาลอย่าให้ข้อมูลกับประชาชนเฉพาะด้านดีเพียงด้านเดียวและไม่ควรเร่งรัดรีบร้อนแบบนี้ เพราะวันนี้ทั่วโลกมีเพียง 9 ประเทศที่เห็นชอบในหลักการ” นายอลงกรณ์ กล่าว

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ชี้แจงว่า ในกรณีนี้เป็นเพียงการนำเสนอกรอบการเจรจาเพื่อให้กระทรวงการคลังนำไปดำเนินการเจรจาต่อไป อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตระหนกว่าสหรัฐฯได้ออกกฎหมายมาให้ประเทศไทยปฏิบัติ เพราะเป็นเพียงกฎหมายที่สหรัฐฯออกมาเพื่อบริหารจัดเก็บภาษีกับพลเมืองของสหรัฐฯเองเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่สหรัฐฯมาบังคับไทยจนไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนสาเหตุที่ไทยเลือกใช้กลไกการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐมา เพราะสถาบันการเงินภาคเอกชนของไทยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าต้องการกระทรวงการคลังเป็นตัวแทนของรัฐเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ

“เขาก็ไม่ได้บังคับว่าจะมีทำธุรกรรมการเงินกับเขา แต่หากเราไปมีธุรกรรมกับเขาแล้วไม่เป็นตามมาตรฐานที่เขาเห็นว่าสมควรเขาก็อาจดำเนินการตามสิทธิของเขา ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้มาล่วงล้ำมาในอาณาจักรของเราหรือมาสั่งการ” นายกิตติรัตน์ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าการเจรจาจะต้องให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้ที่ผ่านมามีหลายประเทศยินดีที่จะเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ และมีความประสงค์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลกับสหรัฐฯเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ประสงค์ที่จะรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของพลเมืองตัวเองในสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าไม่มีความคุ้มค่าในการดำเนินการ แต่ในกรณีของไทยนั้นมีความประสงค์ที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของไทยในสหรัฐฯ เพื่อต้องทราบถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จทางธุรกิจของนิติบุคคลหรือบุคคลสัญชาติไทยที่อยู่ในต่างประเทศ

“ขณะเดียวกันเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทราบดีว่าเรามีกฎหมายหลายฉบับที่อาจล้าสมัย และสมควรได้รับการปรับปรุง และหากกระบวนการเจรจาเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมก็จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป” นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 426 ต่อ 20 เสียงเห็นชอบกับร่างกรอบเจรจาความตกลง
กำลังโหลดความคิดเห็น