เอเจนซีส์ - จีนที่มีนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเจียง เป็นผู้นำ เดินหน้าขยายอิทธิพลบนเวทีการประชุมสุดยอดประจำปีของสมาคมอาเซียนที่บรูไนซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันพุธ (9 ต.ค.) โดยหยอดคำหวานชักชวนอาเซียนทำให้ทะเลจีนใต้เป็น “ทะเลแห่งสันติภาพและมิตรภาพ” ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็น “มวยแทน” ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้ยังต้องว้าวุ่นอยู่กับการแก้วิกฤตภายในประเทศอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ก็ตระเตรียมชักใยชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เร่งรัดปักกิ่งเจรจาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แม้พญามังกรประกาศชัดเจนไม่ต้องการถกประเด็นนี้บนเวทีนี้
งานการประชุมระดับผู้นำประจำปีของอาเซียนเปิดม่านขึ้นอย่างเป็นทางการในวันพุธ (9) เริ่มต้นด้วยการหารือกันเองในระหว่างผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน จากนั้นจึงเป็นรอบของการประชุมซัมมิตระหว่างอาเซียนกับชาติคู่เจรจาต่างๆ เป็นต้นว่า อาเซียนกับจีน, อาเซียนกับญี่ปุ่น, อาเซียนกับสหรัฐฯ แล้วจึงถึงไฮไลต์สำคัญที่สุดของงาน ซึ่งได้แก่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดี (10) โดยนอกจากมีชาติในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงๆ เข้าร่วมแล้ว ยังมีมหาอำนาจอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง ดังเช่น สหรัฐฯ, รัสเซีย, อินเดีย อีกด้วย
ความที่เอเชียกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจมากขึ้นในขณะนี้ การค้าจึงเป็นประเด็นสำคัญของเวทีนี้
อาเซียนที่มีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน ต้องการก่อตั้งตลาดร่วมและฐานการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและอินเดียอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทว่าเป้าหมายการเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) ในปี 2015 หรืออีกเพียง 2 ปีข้างหน้า กลับยังคงดูน่าเคลือบแคลงว่าจะเป็นจริงได้แค่ไหน เนื่องจากยังมีความท้าทายมากมายรออยู่
นอกจากนี้อาเซียนยังกำลังพยายามผลักดันเขตการค้าเสรี 16 ชาติที่ชื่อว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์ซีอีพี) โดยมีออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ร่วมเจรจากับ 10 ชาติอาเซียน และถูกมองว่า เป็นคู่แข่งของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี
อย่างไรก็ตาม แม้การค้าเป็นวาระสำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ แต่อีกประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจใกล้เคียงกันคือ ความขัดแย้งด้านดินแดนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก โดยมีจีนเป็นจำเลยสำคัญ
ในการประชุมสุดยอดที่บรูไนนี้ แกนกลางผู้แทนของฝ่ายจีนคือ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ผู้เข้ารับไม้ต่อจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งทำหน้าที่นี้ในระหว่างประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตลอด 2 วันแรกของสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ คณะผู้นำแดนมังกรประสบโอกาสเหมาะเจาะที่จะตอกย้ำอิทธิพลบารมีของจีนบนเวทีประชุมสำคัญที่สุดของภูมิภาคนี้ทั้ง 2 งาน ขณะที่ประธานาธิบดีโอบามา ยังง่วนกับปัญหาวิกฤตการเมืองในประเทศ จนต้องบอกงดเดินทางมาเข้าร่วม
ระหว่างการประชุมกับผู้นำอาเซียนที่บรูไนในวันพุธ หลี่พยายามผ่อนคลายความกังวลแกมไม่พอใจของเพื่อนร่วมภูมิภาคหลายประเทศ ซึ่งมองว่าปักกิ่งก้าวร้าวในการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในน่านน้ำที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเรียกร้องให้อาเซียนกับแดนมังกรร่วมกันทำให้ทะเลจีนใต้เป็นทะแลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ รวมทั้งส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าตัว กล่าวคือขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020 จากราว 400,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
เท่าที่ผ่านมา จีนพยายามสร้างภาพความเป็นมิตรโดยใช้คำมั่นทางการค้าเป็นเหยื่อล่อใจ ควบคู่กับการยืนกรานในสิทธิ์ของตนในน่านน้ำแทบทั้งหมดในทะเลจีนใต้
และก่อนหน้าซัมมิตคราวนี้ ปักกิ่งยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการลดอุณหภูมิความขัดแย้ง ด้วยการเปิดเจรจาเบื้องต้นกับอาเซียน ว่าด้วยการจัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพิพาทกันในทะเลจีนใต้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคน เป็นต้นว่า เอียน สตอเรย์ จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์มองว่า ปักกิ่งแค่พยายามถ่วงเวลาและฉวยจังหวะนี้ขยายอิทธิพล
ในเวลาเดียวกันนั้น จีนก็ส่งสัญญาณตั้งแต่ก่อนซัมมิตบรูไนว่า ไม่ต้องการให้ใครหยิบยกประเด็นข้อพิพาททางทะเลขึ้นหารือระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในวันพฤหัสบดี (10) ซึ่งดูเหมือนต้องการที่จะส่งสารไปถึงอเมริกาโดยตรง
แต่ดูท่าว่าวอชิงตันจะไม่ยอมเล่นด้วย โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งเปิดเผยเมื่อวันพุธว่า รัฐมนตรีต่างประเทศเคร์รี ที่ร่วมประชุมแทนโอบามา จะผลักดันให้ผู้นำอาเซียนและจีนหารือกันเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แม้ว่าปักกิ่งจะยืนกรานตลอดมาว่า ต้องการเจรจาเรื่องนี้แบบทวิภาคีมากกว่าก็ตาม
เจ้าหน้าที่คนเดิมเสริมว่า เคร์รีจะกระตุ้นให้ชาติอาเซียนสานต่อการทำงานร่วมกันเพื่อ “ความสอดคล้องและความเป็นหนึ่งเดียว” ในการเจรจากับจีนว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้
ทั้งนี้ ทะเลจีนใต้ซึ่งเชื่อว่าอุดมด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ถือเป็นจุดร้อนทางการทหารในภูมิภาค เนื่องจากมีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน
จีนยังมีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้กับญี่ปุ่นในบริเวณทะเลจีนตะวันออก ความสัมพันธ์ของสองชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียร้าวฉานรุนแรงถึงขั้นที่ปักกิ่งประกาศว่า จะไม่มีการเจรจาทวิภาคีระหว่างหลี่กับชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีแดนอาทิตย์อุทัย ที่บรูไนแต่อย่างใด