เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนเอเชียในเดือนเมษายนปีหน้า เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุในวันพุธ (20 พ.ย.) ที่ผ่านมา ทั้งนี้ดูจะเป็นการแก้ตัวจากที่เขา “ผิดนัด” ก่อนหน้านี้ จนทำให้เหล่าประเทศพันธมิตรในภูมิภาคกังขาเกี่ยวกับความมุ่งมั่นตั้งใจของอเมริกาในการผูกพันกับเอเชีย
ที่ปรึกษาใกล้ชิดของโอบามาผู้นี้ ยอมรับว่าผิดหวังที่ประมุขทำเนียบขาวยกเลิกการเยือนเอเชียในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่ออยู่เจรจากับสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกันซึ่งร่วมกันทำให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯหลายแห่งต้องปิดทำการชั่วคราว ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะบีบบังคับโอบามาระงับใช้กฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพ
ไรซ์กล่าวในวันพุธ ระหว่างแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ว่า โอบามาจะเยือนเอเชียในปีหน้า และระบุว่า เหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย สมควรและจะยังคงได้รับความสนใจในระดับสูงสุดจากสหรัฐฯ ต่อไป ไม่ว่าจะเกิดประเด็นร้อนในที่อื่นใดก็ตาม
เธอเสริมว่า ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึงการส่งนาวิกโยธินกว่า 1,000 คนไปร่วมปฏิบัติการบรรเทาทุกข์นั้น เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้นอีก ซึ่งสหรัฐฯมีต่อภูมิภาคเอเชียทั้งหมด
“ความผูกพันของเมริกาจะไม่หมดอายุลงไปภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีนับจากตอนนี้ไป แต่สหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลายาวนาน - อยู่อย่างเชื่อถือได้, มั่นคง, แข็งแกร่ง และสม่ำเสมอ” เธอประกาศ
อย่างไรก็ดี ไรซ์ไม่ได้ให้รายละเอียดกำหนดการในการเดินทางของโอบามา ถึงแม้สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า จุดแวะจุดหนึ่งในการเดินทางเที่ยวนี้ของโอบามาจะเป็นแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งก็จะเป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกของเขานับตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หวนกลับคืนสู่อำนาจ
ทั้งนี้ ตามกำหนดเดิมที่ถูกยกเลิกไปนั้น ผู้นำสหรัฐฯ มีแผนเยือนฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และร่วมการประชุมสุดยอดของเอเปกที่อินโดนีเซีย และการประชุมสุดยอดในกรอบของสมาคมอาเซียนที่บรูไนในเดือนที่ผ่านมา
การไม่มาปรากฏตัวของโอบามา ทำให้แม้กระทั่งพวกชาติพันธมิตรของอเมริกาก็ยังออกมาแสดงความวิตกกังวล และในเวลาเดียวกันก็กลายเป็นการปล่อยให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน โดดเด่นเป็นสง่าแต่เพียงผู้เดียวบนเวทีซัมมิตทั้งสองงาน
โอบามานั้นประกาศไว้ตั้งแต่สมัยแรกแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา ว่า จะ “ปักหมุด” นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯโดยมุ่งเน้นเอเชีย ซึ่งกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารของพญามังกร
ทว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สอง โอบามากลับทุ่มเทความสนใจกับสงครามกลางเมืองในซีเรีย และการผ่อนคลายความเป็นปฏิปักษ์กับอิหร่าน รวมทั้งการลดหนี้สาธารณะของอเมริกาเองหลังจากเข้าไปข้องเกี่ยวกับสงครามใหญ่สองครั้งและเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในความพยายามครั้งใหม่ของอเมริกาที่จะกระชับความสัมพันธ์กับเอเชีย ภายหลังที่ออกจะประสบความเพลี่ยงพล้ำจากการที่โอบามาต้องประกาศงดเยือนเดือนที่แล้ว รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีกำหนดเยือนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในเดือนหน้า โดยที่เมื่อวันพุธ ไบเดนเพิ่งพบกับรองนายกรัฐมนตรีหลิว เอี้ยนตง และหารือเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปล่าสุดของจีน
ไรซ์เสริมว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ซึ่งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่เน้นหนักไปทางตะวันออกกลางนั้น จะกลับมายังเอเชียอีกครั้งในเดือนธันวาคมเช่นกัน
เธอยังบอกอีกว่า อเมริกาจะรักษาคำพูดที่เคยประกาศเอาไว้ว่า จะเคลื่อนย้ายกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพเรือไปยังเอเชีย-แปซิฟิกภายในปี 2020 รวมทั้งผลักดันการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในแปซิฟิก “ทีพีพี” ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่โอบามาคาดหวังว่า จะช่วยกำหนดระเบียบใหม่ในเอเชีย
แม้ถูกจีนมองว่า อเมริกาต้องการใช้ทีพีพีเพื่อล้อมกรอบตน แต่ไรซ์ประกาศว่า วอชิงตันต้อนรับทุกประเทศที่ยินดียึดมั่นกับมาตรฐานระดับสูงของข้อตกลงนี้และแบ่งปันผลประโยชน์จากทีพีพี
ไรซ์ยังเรียกร้องให้จีนแก้ไขข้อกังวลต่าง ๆ ของอเมริกา ที่รวมถึงการสอดแนมทางไซเบอร์
นอกจากนี้ เธอยังแสดงความกังวลเรื่องที่จีนพิพาทกับเพื่อนบ้านหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงพันธมิตรของอเมริกาอย่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า ความขัดแย้งเหล่านั้นอาจลุกลามเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค รวมถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายงดเว้นการขู่เข็ญและความก้าวร้าว และยอมรับให้มีการจัดทำข้อตกลงแนวทางปฏิบัติ เพื่อใช้จัดการกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
ไรซ์ยังยกย่องการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่าและโยงพัฒนาการนี้ กับการที่โอบามาได้ใช้ความพยายามเพื่อหยิบยื่นโอกาสให้แก่พม่า ซึ่งสะท้อนความคิดของทำเนียบขาวว่า ความคืบหน้าในประเทศนี้เป็นความดีความชอบของตน
เธอทิ้งท้ายว่า หากความคืบหน้ายังคงอยู่ต่อไป อเมริกาหวังว่า ช่วงปลายสมัยการดำรงตำแหน่งของโอบามา พม่าจะยกระดับตัวเองเป็นผู้นำในภูมิภาคและเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มั่งคั่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พม่ายังต้องให้การปกป้องชนกลุ่มน้อยมากขึ้น ซึ่งรวมถึงมุสลิมโรฮิงญา และจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในปี 2015