xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตงบ US ฉุดแผนปักหมุดเอเชีย “จีน” สบโอกาสเหมาะตีตื้นทำคะแนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และภรรยา โบกมือขณะเดินทางถึงสนามบินในเกาะบาหลีเมื่อวันเสาร์ (5ต.ค.) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปกในวันจันทร์ (7) และอังคาร(8) นี้ ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กลับต้องบอกงดการเดินทางมาร่วมประชุมซัมมิตเอเปกคราวนี้ ตลอดจนกำหนดการอื่นๆ ในเอเชีย ความแตกต่างกันเช่นนี้ กำลังสั่นคลอนยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชีย ของสหรัฐฯอย่างแรง
รอยเตอร์ – นโยบาย “ปักหมุด” ในเอเชียแปซิฟิกของอเมริกาสั่นคลอนอย่างหนัก หลัง “โอบามา” ถูกวิกฤตงบประมาณภายในประเทศ บีบให้ต้องงดเข้าร่วมประชุมสุดยอดและเยือนชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ในจังหวะเดียวกับที่จีนกลับสามารถเดินเครื่องเต็มที่เพื่อขยายอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และการทูตอย่างพรักพร้อม

การยกเลิกการเดินทางสู่ 4 ชาติเอเชียและการเข้าร่วมประชุมสุดยอด 2 งานในสัปดาห์นี้ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เนื่องจากต้องมุ่งมั่นทุ่มเทจัดการกับวิกฤตงบประมาณ ซึ่งกำลังส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯจำนวนมากต้องปิดทำการเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น กำลังทำให้เกิดความเคลือบแคลงมากยิ่งขึ้น ต่อยุทธศาสตร์การฟื้นอิทธิพลของอเมริกาในด้านการทหารและเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก เพื่อคานอำนาจที่เพิ่มพูนเติบใหญ่ขึ้นทุกทีของจีน

แม้นักการทูตอเมริกันและของหลายชาติเอเชียพยายามแสดงออกว่า การงดเยือนของโอบามาไม่ได้มีผลมากมายนัก ทว่า ภาพความระส่ำระสายของวอชิงตันกลับฟ้องว่าขณะนี้ปักกิ่งกำลังตีกรรเชียงนำโด่งสำหรับยุทธศาสตร์การขยายอิทธิพลในเอเชีย

คาร์ล เบเกอร์ ผู้อำนวยการแปซิฟิกฟอรัม ของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ที่ฮาวาย ชี้ว่า เอเชียกำลังกังวลว่าอเมริกาจะมุ่งมั่นผูกพันกับเอเชียอย่างยั่งยืนเพียงใด

เพราะขณะที่อเมริกาประกาศยกเลิกการเยือนของโอบามาอย่างอิหลักอิเหลื่อ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังอยู่ในอินโดนีเซียและประกาศข้อตกลงการค้าต่างๆ ยาวเหยียดมูลค่ารวม 30,000 ล้านดอลลาร์ จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังมาเลเซียและประกาศการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์แบบครอบคลุมกับแดนเสือเหลืองที่รวมถึงความสัมพันธ์ด้านการทหาร

ผู้นำจีนยังเข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) บนเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย ช่วงต้นสัปดาห์นี้ และซัมมิตเอเชียตะวันออกที่บรูไน กลางสัปดาห์นี้ ขณะที่โอบามาไม่มาปรากฏตัวเพื่อผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) และให้การสนับสนุนชาติพันธมิตรที่กังวลกับการรุกคืบทางทะเลของปักกิ่ง

นับตั้งแต่ปี 2011 จีนเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ตำแหน่งพันธมิตรการค้ารายใหญ่ที่สุดกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย อีกทั้งขยายการลงทุนโดยตรงในภูมิภาคแถบนี้อย่างกระตือรือร้น แม้เรื่องหลังยังเป็นรองยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาอยู่ก็ตาม

เห็นได้ชัดเจนว่า ปักกิ่งกำลังพยายามใช้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อปูทางสำหรับการขยายอิทธิพลทางการทูต การเมือง และการทหารในเอเชีย แม้ความพยายามนี้ถูกบั่นทอนจากความตึงเครียดทางทะเลซึ่งแดนมังกรมีอยู่กับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอีกหลายชาติก็ตาม

คาร์ล เธเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณของสถาบันการทหารออสเตรเลีย ในกรุงแคนเบอร์รา มองว่า การไม่มาปรากฏตัวของโอบามาจะสนับสนุนให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอเมริกา ตกลงปลงใจร่วมหัวจมท้ายกับจีนแน่วแน่ขึ้น

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของสมาคม อาเซียน นับตั้งแต่ปี 2009 อีกทั้งยังลงทุนโดยตรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตต่ออาเซียนเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของสภาธุรกิจจีน-อาเซียนปีที่ผ่านมา บริษัทแดนมังกรลงทุนในเอเชียอาคเนย์ 4,420 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ถึง 52% และลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 147%

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือสหรัฐฯ และญี่ปุ่นระบุว่า จีนกำลังแสดงให้เห็นว่า สามารถส่งกองกำลังออกลาดตระเวนนอกน่านน้ำและปฏิบัติการรบที่ซับซ้อนได้ ปัจจุบัน อู่ต่อเรือของจีนยังผลิตเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมและเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ เรือพิฆาต เรือตรวจการณ์ติดขีปนาวุธ และเรือผิวน้ำออกมามากกว่าประเทศอื่นใด

เรือรบของจีนที่จอดอยู่ในท่าเรือทันสมัย เป็นต้นว่า ฐานทัพเรือแห่งใหม่ทางใต้ของเกาะไหหลำ ถูกส่งออกมาตรวจการณ์ลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอในจำนวนที่มากขึ้นและระยะทางที่ไกลขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมมากที่สุดในด้านดุลอำนาจทางทะเลในเอเชียนับจากสิ้นสุดยุคของกองทัพเรือสหภาพโซเวียต

เดือนที่แล้ว เรือพยาบาล พีซ อาร์ก ของกองทัพเรือจีน ให้การรักษาผู้ป่วยหลายร้อยคนในพม่า กัมพูชา และอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นภารกิจภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรก นอกจากนี้เรือรบแดนมังกรยังแวะท่าเรือหลายแห่งในเอเชียอาคเนย์ เป็นต้นว่า สิงคโปร์และเวียดนาม ระหว่างกลับจากการลาดตระเวนปกติเพื่อป้องกันโจรสลัดระหว่างประเทศในอ่าวเอเดน

ถึงแม้นักวิเคราะห์และนักการทูตชี้ว่า จีนยังต้องพยายามอีกมากมายนัก เพราะขณะนี้แสนยานุภาพทางทหารของแดนมังกรไม่เพียงห่างไกลจากอเมริกาที่มีอิทธิพลในเอเชียมายาวนาน แต่ยังตามไม่ทันมหาอำนาจทางทหารอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย แต่กระนั้น ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวิกฤตการเมืองในวอชิงตันกำลังทำให้ภาพลักษณ์ของอเมริกาในเอเชียสั่นคลอนในระดับหนึ่ง
รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ต้องเป็น มวยแทน ขึ้นเวทีประชุมสุดยอดกลุ่มเอเปก ภายหลังประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจบอกงดการเยือนเอเชียเที่ยวนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น