xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี! ไทยใกล้มี “วัคซีนไข้เลือดออก” คาดปีหน้ารู้ผลประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยเข้าใกล้ความหวังมี “วัคซีนไข้เลือดออก” ใช้ กรมควบคุมโรคเผยกำลังศึกษาประสิทธิภาพในกลุ่มอาสาสมัคร คาดรู้ผลปีหน้า ขณะที่นานาชาติมีถึง 5 สถาบันร่วมพัฒนาวัคซีนทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงผลการประชุมโรคไข้เลือดออกนานาชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ต.ค. 2556 ว่า หลายประเทศได้เสนอปัญหาของโรคไข้เลือดออก โดยพบว่าสถานการณ์โรคในปีนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ที่ประชุมได้มีบรรยายทางวิชาการเกี่ยวกับความคืบหน้าขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยขณะนี้มีวัคซีนไข้เลือดออกที่กำลังพัฒนา 2 ชนิด คือ ชนิดเชื้อเป็น และชนิดเชื้อตาย โดยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นมีสถาบันพัฒนา 3 แห่ง คือ บริษัท ซาโนฟี ปาสเตอร์ บริษัท ทาเคดะ และสถาบันสุขภาพแห่งชาติแห่งสหรัฐอเมริกา ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายมีสถาบัน 2 แห่งทำการศึกษาคือ บริษัท แกลกโซสมิทธ์ไคลน์ และบริษัท เมิร์ค วัคซีน อย่างไรก้ตาม วัคซีนแต่ละชนิดต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการพิสูจน์ว่า สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และยังต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของโครงสร้างและปฏิกิริยาระหว่างภูมิต้านทานกับไวรัสโรคไข้เลือดออก

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ในการประชุมมีการปาฐกถารำลึกถึง ศ.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของไทยและของโลกที่คิดค้นพัฒนาวัคซีนไวรัสไข้เลือดออกตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถมองเห็นผลความสำเร็จได้ในระยะอันใกล้นี้ โดยไทยได้เริ่มพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมาตั้งแต่ปี 2541 โดยใช้เทคโนโลยีไคเมอริกซ์ วัคซีน ขณะนี้การศึกษาอยู่ในระยะที่ 3 คือ การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออกในกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ จำนวน 31,000 คน ในประเทศแถบเอเชีย และกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา เพื่อดูประสิทธิภาพการป้องกันโรค คาดว่าจะสิ้นสุดในปี 2557 หากประสบผลสำเร็จ ความหวังที่จะมีวัคซีนไข้เลือดออกจะเป็นจริงมากขึ้น

นักระบาดวิทยาหลายประเทศรายงานว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ปัจจัยที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมีอยู่หลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การเคลื่อนย้ายประชากร การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนไวรัสเดงกี่ ซึ่งมาตรการหลักในการควบคุมโรคยังเน้นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และระบบการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่โดยการแจ้งเตือน รวมทั้งการสอบสวนโรคและการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างทันเวลา” อธิบดี คร.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น