xs
xsm
sm
md
lg

นร.ลุ้น! ศธ.ลดโควตาสายสามัญ 1 แสน ดันเรียนอาชีวะเพิ่ม 7 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.เตรียมปรับใหญ่ในปี 57 วางแผนเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวะต่อสามัญ เป็น 45:55 จากเดิม 36:64 เพื่อเดินสู่เป้าหมาย 51:49 ในปี 2558 ชี้ต้องเพิ่มผู้เรียนอีก 9% หรือกว่า 7 หมื่นคน เฉพาะ สพฐ.ต้องปรับลดรับเด็กม.4 ลงกว่า 1 แสนคน พร้อมจี้ สพฐ.ไม่ควรเพิ่มนักเรียนต่อห้องมากเกินไปควรอยู่ที่ 40-45 คน และไม่ควรอนุญาตโรงเรียนขยายห้องเรียนเพิ่มเตรียมขับเคลื่อนใหญ่อบรมครูแนะแนวก่อนเดินหน้าทำโรดโชว์ ให้อาชีวศึกษาไปแนะแนวอาชีพใน ร.ร.สพฐ.ฟาก วิทยาลัยเตรียมเปิดบ้านให้เด็กจาก ร.ร.สพฐ.มาดูการเรียนการสอนจริง
ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ.
วันนี้ (21 ต.ค.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญ โดยได้กำหนดเพิ่มสัดส่วนเป็น 51:49 ภายในปีการศึกษา 2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำเสนอผลการหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศันย (กศน.) และกำหนดเป้าหมายร่วมกันว่า ในปีการศึกษา 2557 จะมีการขยับสัดส่วนสายอาชีวะต่อสายสามัญ จากปัจจุบัน 36:64 เป็น 45:55 ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 9% เป็นจำนวนผู้เรียน 75,600 คน ซึ่งปัจจุบัน สอศ.มีจำนวนนักเรียน 383,000 คน สพฐ.มีจำนวนนักเรียน 408,500 คน และจะเพิ่มขึ้นอีก 6% ในปี 2558 ให้ได้ตามเป้าหมาย 51:49

อย่างไรก็ตาม การจะขยับเข้าสู่เป้าหมายเพิ่มผู้เรียนอีก 75,600 คนดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย จึงหารือกันว่าทุกสังกัดต้องแยกเป้าหมายในการเพิ่มรับนักเรียน โดย สอศ.เพิ่มนักเรียนประมาณ 46,700 คน สช.และหน่วยงานอื่นๆ จะเพิ่มนักเรียน 29,900 คน แต่ที่จะกระทบมากคือ สพฐ.ที่ต้องลดการรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาต่อระดับ ม.4 ให้น้อยลงกว่า 100,000 คน เพราะฉะนั้น ทุกสังกัดต้องมากำหนดเป้าหมายในการรับนักเรียนเพื่อให้เกิดความชัดเจนร่วมกันโดยแต่ละหน่วยงานต้องไปหารือกับหากันภายในทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่ และอาจจะต้องกำหนดสัดส่วนการรับที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ซึ่งต้องหารือกันต่อไปโดยในส่วนของ สอศ.จะประชุมร่วมกันในวันที่ 22 ตุลาคมนี้

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางที่จะทำร่วมกันคือ จะต้องสำรวจความต้องการของผู้เรียนที่จบระดับการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 ว่าต้องการไปเรียนต่อในสายอาชีพ หรือสายสามัญ และมีจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้เป็นข้อมูลต่อการกำหนดเป้าหมาย และจะมีการจัดอบรมสัมมนาครูแนะแนว สพฐ. สช.และ สอศ.เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีการแลกเปลี่ยนแนวทางว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนในเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม คือ การจัดกิจกรรมโรดโชว์ โดยภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมอบรมครูแนะแนว สอศ.ก็จะจัดกิจกรรมเข้าไปแนะแนวแก่เด็กในโรงเรียนของ สพฐ.เพื่อจะทำให้เด็กสายสามัญได้รู้ว่าอาชีวะเรียนอย่างไร และและจัดกิจกรรม Open House ที่ สอศ.จะเปิดวิทยาลัยให้เด็กในโรงเรียนของ สพฐ.มาเรียนรู้ประสบการณ์จริงของการเรียนในสายอาชีพ

ที่ประชุมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะด้วยว่าอยากให้ สพฐ.ไปดูเรื่องของใบระเบียนแสดงผลการเรียนของนักเรียน หรือใบ รบ.3 ซึ่งปกติใบ รบ.3 นักเรียนจะรับในช่วงวันที่ 20-24 มีนาคม แต่จะล่าช้าในส่วนของนักเรียนที่ติด ร.หรือ มส.ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน และการรับนักเรียน ในปีการศึกษา 2557 จะขอให้ สพฐ.ดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดในช่วงปิดภาคเรียน โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ประชุมเสนอในเชิงหลักการอยากให้ สพฐ.ไปดูโดยเสนอให้กำหนดจำนวนนักเรียนต่ออยู่ที่ 40-45 คนเท่านั้น และไม่อยากให้ขยายห้องเรียนเพิ่มด้วย ซึ่ง สพฐ.รับปากจะไปดูให้ และ รมว.ศึกษาฯ ยังได้มอบให้ไปสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศจำนวนนักเรียนต่อห้องมีเท่าไรกันแน่เพื่อนำเป็นข้อมูลในการดำเนินการต่อไป” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

ด้าน นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อมีการกำหนดเป็นนโยบายเรื่องเป้าหมายสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะและสายสามัญร่วมกันใหม่ ขณะนี้ สพฐ.โดย นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กพฐ.จะได้มีการหารือและวางแนวทางใหม่โดยต่อไปโรงเรียนอาจจะไม่สามารถขยายห้องเรียน หรืออาจจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการแก้ไขระเบียบการรับนักเรียน หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับนักรียน อาทิ แก้ไขเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำจากเดิมที่กำหนดให้เด็กที่จบ ม.3 และได้เกรดเฉลี่ย 2.00 สามารถเลื่อนชั้นได้อัตโนมัติ ด้วยหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวที่ประชุมยังไม่ได้หารือในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีการพิจารณาให้รอบด้าน และโดยส่วนตัวคิดว่าการที่จะให้เด็กเข้ามาเรียนสายอาชีวะต้องมีการสร้างแรงจูงใจ มีการประชาสัมพันธ์ เป็นการเชิญชวน ให้มาเรียนไม่ได้เป็นการบังคับซึ่ง สพฐ.ก็จะใช้โอกาสในการจัดอบรมแนะแนว เชิญวิทยาลัยอาชีวศึกษามาให้ความรู้ในการเรียนสายอาชีพต่อนักเรียน รวมทั้งจะเชิญผู้ปกครองนักเรียนมาร่วมรับฟังด้วย เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น