สพฐ.เตรียมผุด “ห้องเรียนสมาร์ทคลาสรูม” สนองนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ เริ่มนำร่องเทอม 1 ปีการศึกษา 57 ใน 20 ห้องเรียนในโรงเรียนทุกประเภททุกภูมิภาค “อภิชาติ” เผยต้องการเก็บข้อมูลเชิงเปรียบเทียบว่าสมาร์ทคลาสรูมจะมีผลต่อพัฒนาการเรียนของเด็กจริงหรือไม่
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำร่องจัดทำห้องเรียนแบบสมาร์ทคลาสรูม (smart classroom) หรือห้องเรียนที่ใช้อุปกรณ์ไอซีที มาช่วยจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบขึ้นมา โดย รมว.ศธ.ต้องการให้ศึกษาข้อดีและข้อเสีย และดูว่าสมาร์ทคลาสรูมส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอย่างไร เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจว่า จะดำเนินการโครงการจัดสร้างสมาร์ทคลาสรูมในโรงเรียนทั่วไปหรือไม่
ทั้งนี้ สพฐ.กำลังจัดทำคุณลักษณะของสมาร์ทคลาสรูม ต้นแบบอยู่ว่า จะมีรายละเอียดอย่างไร โดยศึกษาจากสมาร์ทคลาสรูมของต่างประเทศซึ่งมีใช้มาระยะหนึ่งแล้ว เบื้องต้น สพฐ.ตั้งใจว่าจะนำร่องพร้อมกับทั้ง 5 ภูมิภาค รวมทั้งหมด 20 โรงเรียน เฉลี่ยภูมิภาคละ 4 โรง ครอบคลุมทั้งโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และครอบคลุมโรงเรียนทุกประเภททั้งโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธ์จัดการศึกษาระดับเด่นและระดับด้อย ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.ต้องการเปรียบเทียบว่าการนำสมาร์ทคลาสรูมใช้ส่งผลต่อนักเรียนของโรงเรียนแต่ละประเภทอย่างไร
“ถ้านำร่องสมาร์ทคลาสรูมแล้ว พบว่าส่งผลให้นักเรียนในโรงเรียนกลุ่มด้อยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นชัดเจน ก็จะเป็นตัวเร่งให้ขยายผลโครงการนี้ แต่ถ้าพบว่าผลการเรียนไม่แตกต่างกันก็ถือว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สพฐ.กำลังคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการอยู่ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับความพร้อมของครูและผู้บริหารเป็นอันดับแรก เพราะเราพบว่า ที่ผ่านมา มีการจัดสรรเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนไป แต่บางโรงเรียนให้ไปก็นิ่งสนิท เพราะครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่พร้อม จึงต้องดูความเต็มใจของครูและผู้บริหารเป็นประเด็นแรก เพราะฉะนั้น การคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนำร่อง จะใช้วิธีให้โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยตนเอง แต่มั่นใจว่าโรงเรียนจะสมัครเข้าร่วมโครงการเกินจำนวน 20 โรง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะตัดสินที่ความพร้อมของโรงเรียนและประเภทโรงเรียนที่เราต้องการ” นายอภิชาติ กล่าวและว่า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการนี้ได้ในภาคเรียน 1 ปีการศึกษา 2557