“วธ.-สจล.” เปิดตัว “เกมเมอร์การ์ด” โปรแกรมป้องกันเด็กติดเกม ครั้งแรกของไทย ให้ผู้ปกครอง-ร้านเกม ดาวน์โหลดแล้ว ระบุตรวจสอบพฤติกรรมเข้าใช้เน็ต-เล่นเกม แถมป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้ ด้านนักจิตวิทยา แฉเกมยุคใหม่ ล้ำหน้าพัฒนาถึงขั้นสอนการมีเซ็กซ์ พบเด็กเลียนแบบจนเสียตัวมาแล้ว
วันนี้ (17 ก.ย.) ที่โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตและเกมเชิงบวกสำหรับเด็กและเยาวชน” พร้อมเปิดตัวโปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมเชิงบวก หรือ “เกมเมอร์การ์ด” (Gamer Guard Program) ครั้งแรกของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.พงษ์ชัย นิลาศ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนากลไก เพื่อการแก้ปัญหาเด็กติดเกมเชิงบวก กล่าวว่า สจล.ใช้เวลา กว่า 1 ปี ในการศึกษาและพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการดูแลบุตรหลาน และให้ร้านเกมใช้สำหรับเตือนเด็กและเยาวชนที่เข้าไปใช้บริการ โดยเป็นโปรแกรมที่ส่งเสริมการเล่นเกมและอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม ซึ่งไม่ได้เป็นการบล็อก หรือปิดกัน แต่เป็นการเตือนว่า เล่นนานเกินไปแล้ว และระบบจะมีรายงานการใช้งานย้อนหลังว่า เล่นเกมอะไร เข้าเว็บไซต์ และใช้เวลาเท่าใด ที่สำคัญป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้
ทั้งนี้ จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า ไทยใช้อินเทอร์เน็ตเล่นเกม กว่า 20 ล้านคน ติดลำดับ 9 ของเอเชีย โดยร้อยละ 70 ของเด็กและเยาวชน ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กอายุ 6-19 ปี เคยดูสื่อลามก สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ร้อยละ 49.9 บอกว่าความรุนแรงในเกมเป็นเรื่องปกติธรรมดา นอกจากนี้ เกมออนไลน์ที่เด็กนิยมเล่น ร้อยละ 46.1 เป็นเกมต่อสู้ ฆ่าฟัน และเด็กที่มีพฤติกรรมติดเกม ร้อยละ 13.3 จะมีพฤติกรรม อยากเอาชนะ และมีพฤติกรรมก้าวร้าว
“การติดตั้งโปรแกรมทำง่ายๆ เพียงดาวน์โหลด และใส่รหัสผ่านของผู้ติดตั้ง เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล ตรวจสอบการใช้งาน ตั้งเวลาแจ้งเตือนการเล่นเกมได้ ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไป หากเล่นนานจะมีเสียงเตือนและรูปภาพ ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำโปรแกรมดังกล่าวไปติดตั้ง ทั้งที่บ้าน ร้านเกม และสถานศึกษา สถานที่ทำงาน แล้วจะช่วยลดการติดเกม นอกจากนี้ สจล.จะพัฒนาโปรแกรมไปสู่การควบคุมการติดเกมในสมาร์ทโฟนในอนาคตอีกด้วย” ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าว
นายนันทยุทธ หะสิตะเวช ผู้เชียวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกมสอนการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้เล่นเป็นผู้กำหนดการถอดเสื้อผ้าได้ด้วย ที่ร้ายไปกว่านั้น กำหนดได้ด้วยว่า จะถอดเสื้อผ้าลักษณะไหน ตรงนี้เป็นเรื่องน่าห่วงอย่างมาก ส่งผลให้เด็กเรียนแบบ ตนเจอตัวอย่างเด็กที่เล่นเกมเหล่านี้ จนทำให้ไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมาแล้ว ดังนั้นเกมเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องตามไม่ทัน เพราะมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก คือ สิ่งที่น่าห่วงที่สุดในสังคมไทย
ด้านนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ วธ.กล่าวว่า วธ.ยังได้จัดทำการ์ตูนอนิเมชัน ในการเผยแพร่ความรู้ แนะนำ และการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมปกป้องคุ้มครองเด็ก ดาวน์โหลดโปรแกรมทางเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.c-me.go.th หรือ www.m-culture.go.th