xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้เด็กไทยติดไลน์มากขึ้นหวั่นเกิดสังคมก้มหน้าขาดปฏิสัมพันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สรวงศ์” ห่วงวัยรุ่นไทยติด “ไลน์” เกินควร เด็กไม่กล้าสื่อสารแบบเผชิญหน้า แนะผู้ปกครองวางกติกาการใช้งานให้ลูกเชื่อวัยรุ่นอยู่ในช่วงพัฒนาเรียนร่วมกับเพื่อนมากกว่าสังคมออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีความห่วงใยพฤติกรรมคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชนิดสมาร์ทโฟน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะโปรแกรมแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) ที่นิยมใช้ในการส่งข้อความ เช่น ส่งการบ้าน ข้อความสั้น ส่งรูปถ่ายส่วนตัว รูปทั่วไป คลิปเสียง สติกเกอร์ต่างๆ และใช้ฟรีตลอดเวลา โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2555 พบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในเขต กทม.มีการใช้มากที่สุดร้อยละ 84 ภาคกลางร้อยละ 75 ภาคเหนือร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 67 และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ร้อยละ 64

นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า การเล่นไลน์มีทั้งผลดีและผลเสีย ในด้านดีอาจสร้างความสะดวกในการสื่อสารโดยเฉพาะในสถานที่งดการใช้เสียง รวดเร็วทั้งภาพและเสียง ประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ ส่วนเรื่องผลกระทบที่เป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะน้อย หากผู้ปกครองไม่ชี้แนะ ดูแล ควบคุมการใช้อย่างจริงจัง อาจจะเกิดผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่น่าห่วงก็คือการเกิดพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า การสื่อสารแบบเผชิญหน้าจะลดน้อยลง และอาจนำไปใช้เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย ผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขาดความระมัดระวัง อาจเกิดปัญหาอุบัติเหตุจราจรได้ง่ายขึ้น และเด็กมีโอกาสรับรู้สิ่งต่างๆ ในสังคมออนไลน์ได้ตลอดเวลา

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะโปรแกรมยอดนิยม เช่น แอปพลิเคชันไลน์ เด็กวัยรุ่นปัจจุบัน นิยมเล่นกันมาก บางคนเล่นทุกวัน จนอาจทำให้เด็กสูญเสียการใช้ชีวิตประจำวันของวัยเด็กที่ควรจะเป็น เช่น การพัฒนาการเรียนรู้เรื่องสัมพันธภาพ การวางตัว ชีวิตในห้องเรียน การทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มพัฒนาการที่สำคัญของวัยรุ่น การเล่นจนติดเป็นนิสัยจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง เพราะใช้ชีวิตทางการสื่อสารทางตัวหนังสือ หรือใช้ภาพการ์ตูนสะท้อนภาวะอารมณ์แทนที่พฤติกรรมจริงที่มีโอกาสแต่ไม่ได้กระทำ ดังนั้นผู้ปกครอง ควรวางกติกาให้กับเด็กในการเล่น ทั้งกำหนดเวลา จำกัดเวลาในการเล่น ไม่ให้มีการใช้ในช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่น ในเวลาเรียน เวลากลางคืนที่ควรนอน หากทำไม่ได้ต้องมีบทลงโทษเพื่อการเรียนรู้เช่น งดค่าโทรศัพท์ ค่าเติมเงิน ค่าอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นยังต้องกำกับดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด โดยการสอนและให้ข้อคิดในการใช้งาน กระตุ้นให้เด็กคิด และชื่นชมเด็กเมื่อทำตามเพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้มีพฤติกรรมการใช้ที่ดี

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้เปิดให้บริการปรึกษาแก่เด็กและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานติดโทรศัพท์มือถือ หรือติดเกม โดยให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ หมายเลข 02-248-8990 สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑลบริการในเวลาราชการ หรือโทร.สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 สำหรับ 24 ชั่วโมงให้บริการทั่วประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น