xs
xsm
sm
md
lg

กสร.ปลดล็อกกฎคุ้มครองแรงงานประมงให้เป็นสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กสร.เดินหน้าแก้กฎคุ้มครองแรงงานประมงให้สอดคล้องกับหลักสากล ชี้มีลูกจ้างแค่ 1 คนนายจ้างก็ต้องดูแล อายุขั้นต่ำทำงานได้ต้อง 18 ปี คุมเข้มจ่ายค่าจ้าง-สวัสดิการ-ที่พัก จัดประชาพิจารณ์ร่างเนื้อหาเสร็จเดือน ส.ค.นี้ หากทุกฝ่ายหนุนพร้อมชงเข้าครม.

วันนี้ (9 ส.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการประชุมพิจารณาของอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ กสร.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล โดยหัวข้อสำคัญคือ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ.2541) และกำหนดหลักการใหม่ให้บังคับใช้กับเรือประมงที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และบังคับใช้กับเรือประมงทะเลที่ดำเนินการอยู่นอกราชอาณาจักรโดยไม่จำกัดเวลา จากเดิมที่บังคับใช้กับเรือประมงที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป และไม่ใช้บังคับกับเรือประมงทะเลที่ดำเนินการนอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป กำหนดอายุขั้นต่ำของลูกจ้างเป็น 18 ปี เว้นแต่เด็กนั้นอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และมีบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองทำงานอยู่ในเรือนั้นด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 138 พ.ศ.2516 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้และอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 พ.ศ.2550 ว่าด้วยการทำงานด้านประมงและการป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบค้ามนุษย์

“ที่ประชุมยังมีมติด้วยว่าหากนายจ้างจงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานวันหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละ 15 จากเดิมร้อยละ 5 ของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน อีกทั้งยังพิจารณาถึงเรื่องการดูแลสวัสดิการ อาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย ที่สะอาดปลอดภัยของลูกจ้างซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของ Good Labor Practice(GLP) ที่ได้จัดทำออกมาก่อนหน้านี้” นายอาทิตย์ กล่าว

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ กสร.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างผู้ประกอบการประมงเพื่อให้กฎหมายดังกล่าวมีความสมบูรณ์ครบถ้วน หากเห็นด้วยก็จะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้กับเรือประมงทั่วประเทศ ทั้งนี้ การจัดประชาพิจารณ์น่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ หากทุกฝ่ายเห็นชอบจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ รมว.แรงงาน ลงนามออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อใช้บังคับต่อไป

“การแก้กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านการค้ามนุษย์ตามนโยบายของ รมว.แรงงาน เพราะเมื่อ กสร.แก้กฎหมายและหลักปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสากล ลักษณะเรือประมงที่ทางอเมริกากล่าวหาว่าก่อให้เกิดแรงงานบังคับ จะทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคกิจการประมงหายไป อเมริกาจะอ้างว่ากฎหมายไม่ดี หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องไม่ได้ เพราะทุกอย่างจะสอดคล้องกันหมด” นายอาทิตย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น