เชียงราย - ชาวบ้านชุมชนหน้าด่านแม่สาย ฮือขึ้นโรงพักแจ้งจับนายกเล็กแม่สาย ปลัด รองปลัด ส.ท. ตามมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำบ่อบำบัดน้ำเสีย 260 ล้านบาทไม่ผ่านประชาพิจารณ์
วันนี้ (4 ก.ค.) ชาวบ้านหมู่ 1, 2, 6, 7 และ 10 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 300 คน นำโดยนายปรีชา ศรีเพชร อดีตปลัดอำเภอแม่สาย มาที่ สภ.แม่สาย เพื่อแสดงพลังต่อต้านโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลตำบลแม่สาย ซึ่งใช้งบประมาณจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 260 ล้านบาท
จากนั้นนายปรีชา พร้อมแกนนำรวม 8 คนได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.สำเภา สุทธพันธ์ หัวหน้างานสอบสวน สภ.แม่สาย ให้ดำเนินคดีต่อนายไศลยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ตามมาตรา 157 กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เรื่องการทำประชาพิจารณ์เพื่อดำเนินโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว
นายปรีชา และคณะระบุว่า เนื่องจากการดำเนินโครงการลักษณะนี้จะต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ทราบข้อมูล แต่กลับปรากฏข่าวสารจากเทศบาลฯ ว่ามีการทำประพิจารณ์แล้ว ตนและชาวบ้านจึงได้นำหลักฐานเป็นลายมือชื่อชาวบ้านในพื้นที่ 800 รายชื่อ แผ่นวีซีดีเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลของคนที่เกี่ยวข้องประกอบเป็นหลักฐานด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน นายปรีชา และคณะได้ปราศรัยโจมตีโครงการดังกล่าว ทำให้ พ.ต.อ.ณัฏฐวุฒิ ยุววรรณ ผกก.สภ.แม่สาย ต้องเจรจากับนายปรีชา พร้อมแนะนำว่าการแจ้งความดำเนินคดีไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ สภ.จำนวนมาก แต่ผู้เสียหายหรือผู้แจ้งสามารถไปแจ้งเรื่องต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้นก็ได้ ซึ่งทางตำรวจก็พร้อมจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอยู่แล้ว
ซึ่งนายปรีชา และคณะยืนยันว่าทั้งหมดคือผู้เสียหาย แต่ก็ยอมส่งตัวแทนเข้าแจ้งความ ส่วนชาวบ้านที่เหลือได้ยื่นรายชื่อประกอบ 800 รายชื่อ เนื่องจากโครงการจะทำถึง 5 บ่อครอบคลุมหลายชุมชนบริเวณหน้าด่านพรมแดนแม่สาย จนในที่สุดทางตำรวจก็ยินยอมตามคำขอ โดยสอบถามข้อมูลและเรื่องราวเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายปรีชากล่าวว่า โครงการนี้จะดำเนินการในหลายชุมชน โดยเฉพาะที่คลองชลประทานชุมชนเหมืองแดง หมู่ 10 และยังมีบ่ออื่นครอบคลุมหลายชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามสอบถามข้อมูลจากเทศบาลฯ พร้อมขอให้ทำประชาพิจารณ์ แต่ในการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ทางเทศบาลฯ ชี้แจงว่าชุมชนหน้าด่านพรมแดนแม่สายจำเป็นต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียเนื่องจากเป็นชุมชนหนาแน่น รวมทั้งมีการทำประชาพิจารณ์แล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจเพราะไม่เคยได้รับข้อมูลหรือร่วมเวทีประชาพิจารณ์มาก่อน เพิ่งจะมาทราบจากการค้นคว้าข้อมูลในช่วงหลังเองเท่านั้น
“ตอนนี้ทางเทศบาลฯ กำลังจะลงมือทำโครงการแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวออกมาแสดงพลังคัดค้านกันเป็นจำนวนมาก”
นายปรีชากล่าวว่า เมื่อไม่สามารถยับยั้งโครงการได้ตามกระบวนการเรียกร้องปกติ จึงต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมด้วยการแจ้งความดำเนินคดี โดยมีผู้ที่ลงชื่อประกอบเป็นหลักฐานหลายร้อยคนเพื่อแสดงว่าไม่ได้มีแค่คนบางกลุ่ม หรือบางคนที่เดือดร้อนหรือออกมาเคลื่อนไหว แต่ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ