xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยติดเกมขั้นวิกฤต ล่าสุดพุ่งสูงถึง 2.5 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กไทยติดเกมขั้นวิกฤต เผยข้อมูลล่าสุดพบจำนวนเด็กติดเกมพุ่ง 2.5 ล้านคน จากจำนวนเด็ก 18 ล้านคน หวั่นลุกลามจนเด็กติดเกมหนักส่งผลเสียต่อสุขภาพ ชี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีบทบาทควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต หรือการเล่นเกมของเด็กที่เหมาะสม ทั้งควรพัฒนาวิธีวินิจฉัยเด็กและบำบัดเด็กที่มีปัญหาติดเกม ขณะที่ กรมสุขภาพจิตเล็งกำหนดวิสัยทัศน์ 10 ปีข้างหน้าหาวิธีรับมือเด็กติดเกม โดยดึงพ่อแม่ เด็ก ร.ร.และชุมชนร่วมคิด

ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน หัวหน้าคณะทำงานจัดการข้อมูลประเด็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีเด็กไทยกับไอที กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประชุมสัมมนาวิชาการและเครือข่ายคนทำงานเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “เด็กไทยกับไอที” ได้มีการระดมสมองเพื่อหาทางออกและวางแผนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านไอที โดยขณะนี้ พบว่า ปัญหาเด็กติดเกมถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนากระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต และการเล่นเกมของเด็กอย่างเหมาะสม พัฒนาร้านเกมอินเทอร์เน็ตให้เป็นสถานที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และเป็นมิตรกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมถึงพัฒนาวิธีการวินิจฉัยเด็กและบำบัดเด็กติดเกมและอินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องกับมิติของสังคมไทย พัฒนาศักยภาพของโรงเรียน ครอบครัวและชุมชนในการแก้ปัญหา รวมทั้งหาสถานที่ให้เด็กใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์

“ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้มาตรการแก้ปัญหาตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นได้ภายในปี 2556 หากการดำเนินการล่าช้า จะยิ่งทำให้ขนาดของปัญหาใหญ่ขึ้น ดังนั้นทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ควรร่วมมือกันอย่างสมานฉันท์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและความคิดเห็นที่สมบูรณ์ นำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง”

ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะเรื่องการแจกแท็บเล็ตและแล็ปท็อป ให้เด็กชั้น ป.1 พบว่ายังมีปัญหาเรื่องการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรของสถานศึกษา ขาดเทคนิคที่จำเป็นในการใช้งาน การเก็บรักษา รวมถึงความไม่พร้อมของผู้ปกครองในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในส่วนของเนื้อหาสำหรับเด็ก ยังขาดความหลากหลาย ขาดแอปพลิเคชันที่เหมาะสม ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ ควรเร่งรัดการอบรมครูผู้สอน การพัฒนาระบบข้อมูลกลาง และดึงภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเด็ก อีกทั้งควรประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น และมีคณะทำงานติดตามนโยบายสาธารณะด้านแท็บเล็ต โดยให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันควรพิจารณาถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เนื่องจากนโยบายของภาครัฐมีการใช้งบประมาณสนับสนุนแท็บเล็ต รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกปี จึงควรมีวิธีกำจัดขยะเทคโนโลยีที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยจำนวนเด็กติดเกม 2.5 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 18 ล้านคน ถือเป็นสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13.3 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 14.4 ในปี 2555 ปัจจุบัน ก.สาธารณสุข และ ก.ศึกษาธิการ ได้พยายามเข้าไปแก้ปัญหาในเชิงรุกด้วยการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปให้ความรู้ถึงในโรงเรียน พร้อมใช้มาตรการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ปล่อยให้ปัญหาบานปลายถึงขั้นเด็กติดเกมอย่างหนัก ซึ่งทำให้การบำบัดรักษาทำได้ยากมากขึ้น นอกจากนั้น จะต้องเร่งรัดในการพัฒนาเครือข่ายของผู้ปกครองให้มีความเข้มแข็ง พร้อมจับมือกับกระทรวงวัฒนธรรมในการกระจายความรู้ไปยัง 4 ภูมิภาค ร่วมกับแกนนำชุมชน

“ขณะนี้เราต้องวางวิสัยทัศน์ในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาเด็กติดไอทีอย่างไร ต้องระดมทั้งความรู้และเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับโรงเรียน เด็ก ครอบครัว และชุมชน”
 

กำลังโหลดความคิดเห็น