xs
xsm
sm
md
lg

อนาถ! หนุ่มไทยติดเกมถึงขั้นอึแตกหน้าคอมพ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาการติดเกมจ่อขึ้นแท่นปัญหาระดับโลก ในไทยบางรายอาการหนักถึงขั้นอึราดคาจอคอมพิวเตอร์ แม้แต่ผู้ปกครองยังดัดแปลงบ้านเป็นร้านเกมเถื่อน ล่อเพื่อนลูกใช้บริการ แนะพ่อแม่สังเกตลูกเล่นเกมเกิน 1 ชม.ทุกวัน ควรพบหมอจิต ด้านนักวิชาการเสนอใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนเด็กเล่นเกม วอน ศธ.ใส่วิชารู้ทันไอทีลงหลักสูตรการสอนด้วย

วันนี้ (20 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวในเวทีเจาะประเด็น “คุมเข้มเด็กเล่นเกม : ลิดรอนสิทธิ หรือ ช่วยสร้างสรรค์” ว่า สถิติการติดเกมอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบำบัดรักษาต้องเริ่มจากการตรวจวินิจฉัยและเก็บข้อมูลก่อน โดยขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังร่างแนวทางวินิจฉัยเด็กติดเกมเพื่อแก้ปัญหา สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ที่ผ่านมา เคยพบผู้ป่วยชายรายหนึ่ง อายุประมาณ 20 ปลายๆ ติดเกมอย่างรุนแรงถึงขั้นอุจจาระหน้าจอคอมพิวเตอร์และเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า จนคุณยายที่คอยดูแลส่งข้าวส่งน้ำให้ถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ต้องรีบพามาพบจิตแพทย์ แต่ผู้ป่วยกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วย จึงไม่เข้ารับการรักษา ซึ่งอาการนี้รุนแรงต้องใช้เวลารักษานาน นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดหนึ่งมีพ่อของเพื่อนดัดแปลงชั้นบนของบ้านเป็นร้านเกมเถื่อนให้เพื่อนลูกใช้ โดยเก็บค่าบริการ มีที่นอน หมอน และเสื้อผ้าให้เปลี่ยนด้วย” ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า หากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการประเมินว่าลูกตนเองติดเกมหรือไม่ สามารถดูได้จากพฤติกรรมการเล่นเกม หากใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงติดต่อกันทุกวัน ถือว่าเริ่มมีความผิดปกติ นอกจากนี้ ยังสามารถดาวน์โหลดแบบประเมินการติดเกมจากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th ได้ด้วย ส่วนการป้องกันควรสอนเรื่องวินัยและสร้างกติกาก่อนเล่นเกมเสมอ โดยต้องกำกับและติดตามด้วย แต่ต้องไม่ใช้มาตรการรุนแรงเพราะไม่ได้ผล

นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง กรณีเด็กไทยกับไอที กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 มีมติที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อป้องกันปัญหา อาทิ เน้นการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน การสร้างระบบป้องกันการเล่นเกมของเด็ก ทั้งลงทะเบียนการเล่นด้วยบัตรประชาชน จำกัดเวลาการเล่นต่อวันตามช่วงอายุ มีผู้ดูแลร้านเกมสีขาวที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ควบคุมให้ปฏิบัติตามกฎและป้องกันเด็กถูกล่อลวง เป็นต้น

“พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26(7) กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามไม่ให้มีการส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กกระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น เกมที่มีการออกแบบให้คนติดเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่สร้างระบบปกป้องเด็กเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.นี้ชัดเจน” นพ.อดิศักดิ์กล่าว

นายประดิษฐ์ โปซิว ผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีร้านเกมที่ไม่ได้เข้าระบบการขออนุญาตจำนวนมาก ซึ่งวธ.กำลังเร่งดำเนินการ และกำลังแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 เพื่อให้มีการจัดเรตติ้งเกมแทนการอนุญาต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา

นางสีดา ตันทะอทิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้เด็กแต่ละช่วงวัยเรียนรู้การใช้ไอทีอย่างปลอดภัยเหมือนอย่างต่างประเทศ ซึ่งเนื้อหาจะปรับเปลี่ยนตามอายุของเด็ก จึงอยากให้ศธ.จัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในระบบการศึกษาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น