xs
xsm
sm
md
lg

8 ขวบเลียนแบบ “แรงเงา-คนอวดผี” ผูกคอตายหวิดดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นเรื่องอีกแล้ว! ด.ญ.8 ขวบ ดูละครฮิต “แรงเงา” และรายการคนอวดผี ที่เผยแพร่ฉากผูกคอตาย แล้วเกิดการเลียนแบบตามที่เห็นในทีวี สุดท้ายพลาดถูกแขวนคอบนต้นไม้นานกว่า 10 นาที พ่อนำส่ง รพ.รามาฯ พบสมองขาดออกซิเจน แพทย์เผยถึงรักษาหายแต่เกิดผลกระทบต่อร่างกายแน่

วันนี้ (1 พ.ย.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเรื่อง “ภัยร้ายต่อเด็กจากสื่อทีวี สื่อไอที : ดูทีวีแล้วผูกคอตาย เล่นเกมแล้วแทงแม่ตาย” ว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวความรุนแรงในเด็กปรากฏออกตามสื่อต่างๆ โดยมีสาเหตุมาจากอิทธิพลของสื่อทีวีและอินเทอร์เน็ต ทั้งกรณีเด็กหญิงอายุ 8 ปี ที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หลังเล่นแขวนคอกับเพื่อน ซึ่งเลียนแบบมาจากสื่อโทรทัศน์ และกรณีเด็กชายอายุ 14 ปี ที่ติดเกม เมื่อถูกมารดาห้ามจึงเกิดความไม่พอใจใช้มีดไล่แทงมารดาจนถึงแก่ความตาย

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีของเด็กหญิงอายุ 8 ปีนั้น ถูกส่งเข้ามารับการรักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ด้วยอาการหมดสติ สมองขาดออกซิเจน ซึ่งจากการสอบถามพ่อของเด็ก พบว่า เด็กคนดังกล่าวไปเล่นแขวนคอกับเพื่อน โดยนำเศษผ้าและเชือกมาผูกเป็นห่วงกับต้นหูกวาง ห่วงอยู่สูงจากพื้น 120 เซนติเมตร และเด็กปีนปากโอ่งที่สูงประมาณ 60 เซนติเมตร พร้อมเอาศีรษะไปแขวนกับห่วงทำท่าแขวนคอ ก่อนขาทั้งสองพลัดตกลงไปในโอ่งโดยแตะไม่ถึงพื้น ทำให้เด็กถูกแขวนคอนานกว่า 10 นาที เพื่อนที่เล่นอยู่ใกล้ๆคิดว่าเด็กเล่นอยู่จึงไม่ได้สนใจอะไร จนเด็กหมดสติจึงวิ่งไปตามพ่อของเด็กมาช่วยนำส่งโรงพยาบาล

จากการสอบถาม พ่อของเด็กบอกว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เด็กได้ดูรายการทีวีที่มีภาพการแขวนคอตายถึง 2 รายการในช่วงสัปดาห์เดียว ได้แก่ ละครเรื่องแรงเงา ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 ต.ค.และรายการคนอวดผี ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 17 และ 24 ต.ค. ซึ่งออกอากาศก่อนเกิดเหตุหนึ่งวัน โดยทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กได้ทำการดูทั้งสองรายการย้อนหลังแล้ว พบว่า มีฉากของการแขวนคออยู่จริง และได้ทำการบันทึกรายการทั้งสองรายการดังกล่าวไว้แล้ว” นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับอาการของเด็กหญิง ขณะนี้แพทย์ได้ถอดเครื่องช่วยหายใจออกแล้ว คาดว่า จะนำออกจากห้องไอ.ซี.ยู.ได้เลย แต่ยังไม่รู้สึกตัวซึ่งต้องรอดูอาการอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากสมองของเด็กขาดออกซิเจนเป็นเวลานานกว่า 10 นาที ซึ่งเมื่อเด็กหายดีแล้วจะเกิดผลกระทบต่อสติปัญญา และสภาพร่างกายของเด็กแน่นอน แต่จะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหนยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ ต้องรอประเมินสภาพสมองของเด็กก่อน ทั้งนี้ เด็กจะต้องรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 เดือน และหลังจากนั้นประมาณ 5-6 เดือนจึงจะสามารถประเมินสภาพสมองของเด็กได้

นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีเด็กวัย 14 ปี ติดเกม เมื่อถูกห้ามปรามจึงก่อเหตุสลดฆ่ามารดานั้น ในหลายประเทศก็มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งสมาคมจิตแพทย์ทั่วโลกต่างต่างจัดให้อาการติดเกมเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคจิตเวช โดยจะมีอาการเสพติดเกมมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนสารเสพติด อดไม่ได้ เมื่อถูกห้ามปรามจะเกิดความเครียดและแสดงอาการต่อต้าน ส่วนกรณีเด็กรายดังกล่าวมีจุดอ่อนในเรื่องสุขภาพจิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดเหตุสลดดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้ อยากให้ผู้ปกครองเคร่งครัดในการตรวจสอบการเข้าถึงสื่อทีวี เกม อินเทอร์เน็ตของเด็ก คัดกรองเลือกสื่อที่มีเนื้อหาเหมาะสม และจำกัดเวลาการใช้สื่อทีวี เกม อินเทอร์เน็ต โดยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรเข้าถึงสื่ออิเลกทรอนิกส์เลย เด็กอายุมากกว่า 2 ปีควรใช้เวลากับสื่อผ่านหน้าจอไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้มีเขตปลอดหน้าจอโดยเฉพาะในบริวเณห้องนอน และบริเวณโต๊ะอาหาร และส่งเสริมกิจกรรมอื่น เช่น กิจกรรมกลางแจ้ง การใช้สื่อกระดาษ เช่น หนังสือนิทาน นิยาย การเล่นรูปแบบอื่นๆที่สร้างจินตนาการให้กับเด็กๆ

อย่างประเทศจีนจะมีการจำกัดการเล่นเกมและอินเทอร์เน็ต โดยทุกคนต้องมีการแสดงสถานะตัวตนก่อนเข้าระบบว่าเป็นเพศใด อายุเท่าใด เพื่อจำกัดเวลาในการเล่น ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่ส่วนรวมต้องช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังมีร้านเกมสีขาว คือ เป็นร้านที่ใช้ในการเรียนรู้ เล่นเกมอย่างปลอดภัยและเหมาะสมน้อย ดังนั้น ควรมีการจัดโซนนิ่งและให้คนคุมร้านเกมมีส่วนช่วยในการดูแลเด็กขณะเล่นเกมด้วย” นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสื่อต่างๆ รัฐบาลยังไม่มีการควบคุมการอย่างจริงจัง จึงเกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่เด็กเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงที่พบจากสื่อต่างๆอยู่เสมอ โดยเฉพาะพวกละครที่มีแต่เรื่องตบกันไม่ควรสนับสนุนให้มีการผลิตออกมา เพราะเมื่อเด็กเห็นจะเกิดการเลียนแบบ และผู้ปกครองควรอธิบายให้เด็กเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่เห็นในละครเป็นการแสดงไม่ควรที่จะทำเลียนแบบเพราะอาจจะเกิดอันตรายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น