“จาตุรนต์” สั่ง ก.ค.ศ.ตั้งวงถกหาทางแก้ปัญหาขาดครูลั่นหากต้องแก้กฎหมายเพื่อให้เปิดทางให้สถานศึกษาจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำหน้าที่ครูสอนได้ก็ให้ทำ ขณะที่ “ชัยพฤกษ์” ชี้หากปลดล็อกเงื่อนไขในเรื่องตั๋วครู ตามที่คุรุสภา เสนอขอเพิ่มเติมอำนาจในการยกเว้นได้ สถานศึกษาทุกสังกัดได้รับอานิสงส์ด้วย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ศธ. ประสบปัญหาการขาดแคลนครูมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถที่จะจ้างคนเก่งที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะด้านมาทำหน้าที่ครูผู้สอนได้ เพราะติดปัญหาในเรื่องของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งไม่ใช่จะมีปัญหาเฉพาะในส่วนของสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น แต่ในสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็มีปัญหาในเรื่องการจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาสอนเช่นกัน อาทิ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขานาฏศิลป์ หรือแม้กระทั่งครูชาวต่างประเทศ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
ทั้งนี้ ตนมองว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นระบบที่ปิดเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรคไม่สามารถดึงคนที่มีความรู้ในวิชาชีพต่างๆ มาเป็นครูได้ ทั้งที่คนเหล่านั้นสามารถที่จะเข้ามาสอนเพื่อทดแทนครูที่เรากำลังขาดแคลนได้ เพราะฉะนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปตั้งวงพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม หากต้องแก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกปัญหาเพื่อเปิดทางให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ เข้ามาเป็นครูได้ก็สามารถทำได้ เพราะตนไม่อยากให้ไปปิดช่องทางที่จะให้ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้นๆ เข้ามาเป็นครู
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 44 ของ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ที่กำหนดไว้ว่าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คุณสมบัติ มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ทั้งนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางไม่สามารถมาเป็นครูได้ ดังนั้น คุรุสภาจึงเสนอทางออกโดยการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราดังกล่าว และกำหนดให้กรรมการคุรุสภาสามารถยกเว้นเงื่อนไขข้อนี้ได้
“การแก้ไขเพิ่มเติมตรงนี้ไม่ได้เป็นการแก้ทั้งมาตรา จึงสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันที 3 วาระ เพราะถือว่าไม่ผิดเจตนารมณ์ในเรื่องใบประกอบวิชาชีพครู ขณะเดียวกันยังช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูในวิชาชีพเฉพาะได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สาขาวิศวกรรมศาสตร์ นาฏศิลป์ ฯลฯ และไม่ได้ช่วยปลดล็อกเฉพาะปัญหาขาดแคลนครูของ สอศ.เท่านั้น แต่ยังทำให้หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น สพฐ.หรือ สช.สามารถจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมาสอนได้มากขึ้น”นายชัยพฤกษ์ กล่าว