“ประเสริฐ” แจงจบ ม.6 ใน 8 เดือน มีเป้าหมายชัดเปิดโอกาสให้นำความรู้-ประสบการณ์มาเทียบโอนได้ ระบุเพื่อแก้ปัญหาเข้าใจผิดเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เทียบระดับการศึกษาขั้นสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” แทนแล้ว ขณะที่ เลขาธิการ กอศ.ระบุ รมว.ศึกษาฯห่วงเหตุพบเด็กบางคนเรียน ปวช.ไม่ไหวและลาออกไปเรียนโครงการ กศน.แทน พอจบก็มาสมัครเรียน ปวส.ทั้งที่เพื่อนยังอยู่แค่ ปวช.2 เท่านั้น หวั่นปล่อยไว้เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษา
จากกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่าอาจต้องมีการทบทวนโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาจบ ม.6 ใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เนื่องจากปัจจุบันมีนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่เรียนไม่ไหว หรือไม่อยากเรียนหนีมาเรียนโครงการดังกล่าวของ กศน.จากนั้นก็มาสมัครเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ก็มีปัญหาเรียนไม่ได้จึงต้องการให้ กศน.กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าโครงการให้ชัดเจนโดยอยากให้เน้นผู้เรียนที่มีประสบการณ์การทำงานไม่ใช่เด็กที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วดิ่งมาเรียนในโครงการดังกล่าวเลยนั้น
นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน.กล่าวว่า ความจริงแล้วโครงการดังกล่าวไม่ได้จบง่ายอย่างที่ประชาชนเข้าใจ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ต้องการเปิดโอกาสให้คนที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในอาชีพได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นมาเทียบระดับได้ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งระดับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้สามารถเทียบระดับการศึกษาแบบข้ามชั้นได้ ไม่จำเป็นต้องเทียบทีละระดับเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อท้วงติงว่าการใช้ชื่อเดิมนั้นอาจจะส่งผลให้ประชาชนเข้าใจความหมายผิดได้ กศน.จึงเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่จากคำว่า “จบ ม.6 ใน 8 เดือน” มาเป็น “เทียบระดับการศึกษาขั้นสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” แทนแล้ว
“ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเทียบระดับกับ กศน.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนแต่ต้นคือต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีอาชีพที่มั่นคงและประสบความสำเร็จในอาชีพนั้น ที่สำคัญจะต้องมีความรู้ ความสามารถที่จะนำมาเทียบระดับ เพราะการจบต้องจบอย่างมีคุณภาพ ต้องผ่านการทดสอบ 9 มาตรฐานวิชาโดยต้องผ่านในสัดส่วน 60% ในทุกมาตรฐาน สำหรับ 9 มาตรฐานวิชาที่ กศน.กำหนดไว้ ได้แก่ 1.การใช้คอมพิวเตอร์ 2.คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน 3.การบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีได้ 4.ระบอบประชาธิปไตย 5.การบริหารจัดการชุมชน 6.การสนทนาภาษาอังกฤษหรือจีน 7.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 8.การวิจัยชุมชน และ 9.การจัดการอาหารเพื่อครอบครัวและชุมชน” นายประเสริฐ กล่าว
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็ก ปวช.จำนวนหนึ่งที่เข้ามาเรียนได้สักพักก็เรียนไม่ไหวตัดสินใจลาออกไปอยู่บ้านเฉยๆ รอจนอายุครบ 18 ปี ก็ไปสมัครเรียนกับ กศน.ตามโครงการเรียนจบ ม.6 ใน 8 เดือน ทำให้จบ ม.6 ก่อน ในขณะที่เพื่อนๆ ยังเรียนอยู่ ปวช.ปี 2 และไปสมัครเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งเท่ากับว่าเด็กเหล่านี้เรียนเร็วกว่าเพื่อน 1 ปี ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงเป็นห่วงว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อาจจะเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาได้ จึงอยากให้ กศน.กลับไปดูเจตนารมณ์ของการดำเนินโครงการดังกล่าวใหม่ โดยอาจจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์บางข้อ เช่น คนที่มาเรียนในโครงการนี้ อาจจะต้องมีประสบการณ์การมีงานทำมาแล้ว หรือกำหนดอายุผู้ที่สมัครเข้าเรียนใหม่ เป็นต้น