xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง สกศ.ตรวจสอบปัญหาเงินอุดหนุนรายหัว คาดรายงานผลใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” สั่ง สกศ.รวมปัญหาอุดหนุนรายหัวทุกสังกัด วางระบบอุดหนุนรายหัวใหม่ โยนหินถามทางควรกำหนดเพดาน นร.ต่อห้องให้มีผลต่อการจัดสรรเงินด้วยหรือไม่ ชี้รัฐอาจต้องอุดหนุนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ร.ร.เพิ่มอีกทางหนึ่ง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (8 ส.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า ตนได้มอบโจทย์ใหม่เป็นการบ้านให้ สกศ.ไปรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนในสถานศึกษาทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทั้งนี้ จากที่ตนได้รับฟังปัญหาต่างๆ ของทุกหน่วยงานมักพบว่ามีการเสนอขอปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้สูงขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาการศึกษา ทั้งนี้ตนมองว่านี่เป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้นแต่ยังมีปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น การอุดหนุนโดยไม่คำนึงถึงขนาดของสถานศึกษาจนส่งผลต่อคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ เช่น ร.ร.ขนาดเล็ก จำนวนนักเรียน 50 คนคูณด้วยเงินอุดหนุนรายหัวจะพบว่า ร.ร.ขนาดเล็กจะไม่มีเงินพอที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือทำกิจกรรมใดได้เลย หรือแม้แต่อาชีวะก็พบว่าเงินอุดหนุนรายหัวไม่สอดคล้องกับกรณีผู้เรียนในสาขาช่างบางประเภท ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์การเรียนเฉพาะและมีราคาสูงซึ่งไม่มีงบประมาณเพียงพอจะจัดสรรได้ เพราะฉะนั้น ต้องมาคิดว่าควรจะมีเงินอุดหนุนต่อโรงเรียนด้วยหรือไม่ แทนที่จะมีเงินอุดหนุนรายหัวเพียงอย่างเดียว

มีปัญหาด้วยว่า ร.ร.ขนาดใหญ่ดูดเด็กจาก ร.ร.ขนาดเล็กไปจนทำอะไรไม่ได้ และกลายเป็นว่า ร.ร.ขนาดใหญ่มีเด็กมากได้เงินรายหัวมาก สุดท้าย ร.ร.เล็กซึ่งสูญเสียเด็กก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าเราต้องการให้ ร.ร.ขนาดเล็กยังคงอยู่ก็ต้องหาวิธีการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้ โดยอาจจะต้องมาดูว่าต่อไปการอุดหนุนรายหัวควรจะต้องกำหนดเพดานจำนวนนักเรียนต่อห้องหรือไม่ เช่น ไม่เกิน 45 คนต่อห้อง เพราะไม่เช่นนั้นหาก ร.ร.ขนาดใหญ่มีจำนวนนักเรียนเพิ่มสูงถึง 60 คนต่อห้อง มีเงินอุดหนุนรายหัวมากแต่กลับกันคุณภาพการศึกษายังต่ำก็จะเกิดปัญหา ซึ่งตรงนี้ต้องให้นักการศึกษามาช่วยวิเคราะห์ว่าจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงขนาดและประเภทของ ร.ร.ขณะเดียวกัน อาจจะต้องมาดูเพิ่มเติมว่ารัฐต้องอุดหนุนในกิจกรรมพื้นฐานใดบ้างของ ร.ร.เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินอุดหนุนรายหัวเด็ก เป็นต้น” นายจาตุรนต์ กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนต้องการให้ สกศ.ไปรวบรวมปัญหาและวิเคราะห์ จัดทำระบบวิธีการ หลักเกณฑ์การอุดหนุนรายหัวที่เหมาะสมกับสถานศึกษาแต่ละประเภทมีอะไรที่เหมือนและต่างกัน เพื่อจัดระบบให้เหมาะสมซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเพิ่มหรือไม่เพิ่มงบประมาณอุดหนุนรายหัว หากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2557 แต่หากต้องมีการปรับเปลี่ยนวงเงินงบประมาณ ต้องดูว่าสำนักงบประมาณจะช่วยจัดหางบเพิ่มเติมได้หรือไม่หากไม่ได้คงไม่ทันปีการศึกษา 2557

ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญนรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า รมว.ศึกษาธิการ มองว่าการจะเพิ่มแต่งบประมาณรายหัวไม่ใช่เรื่องถูกต้องควรจะดูในปัจจัยอื่นๆ ด้วยจึงให้โจทย์ สกศ.ไปต่อยอดจากผลการวิจัยที่มีอยู่ว่านอกเหนือจากการอุดหนุนใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่ากิจกรรม เราจะต้องเพิ่มเติมอะไรเพื่อสนับสนุน ร.ร.บ้าง ซึ่งจะให้พิจารณาตามขนาดของร.ร.ตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ รวมไปถึงระยทางใกล้ หรือไกลด้วย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็ให้ไปคุยกับทั้ง สพฐ.สอศ. สช.และ กศน.และนำมารายงานโดยเร็วที่สุดคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะรายงานความคืบหน้าได้


กำลังโหลดความคิดเห็น