“จาตุรนต์” ให้เขตพื้นที่ร่วมรับผิดชอบขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา สั่ง สพฐ.ศึกษาวิธีทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานระหว่างส่วนกลาง กับเขตพื้นที่การศึกษา ยอมรับเงื่อนไขพิจารณาความดีความชอบโดยยึดที่ผลงานจริง ผอ.เขตพื้นที่ฯรายได้ ไม่มีผลงาน ไม่สามารถทำให้คุณภาพโรงเรียนในพื้นที่กระเตื้องขึ้น หมดสิทธิ์ย้ายไปอยู่จังหวัดใหญ่ขึ้น
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังไปประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่ รร.ปริ๊นพาเลซ มหานาค เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า กลไกหนึ่งที่จะทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดกับผู้เรียนได้ประสบผลสำเร็จ คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตนจึงได้คิดวิธีที่จะให้เขตพื้นที่การศึกษามีบทบาทรับผิดชอบและร่วมผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไปสู่ความสำเร็จ และได้ตัดสินใจเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานกับเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เขตพื้นที่การศึกษามีบทบาทในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาได้มากที่สุด
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า การทำงานของเขตพื้นที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยไม่มีการวัดผลการทำงาน ไม่มีระบบประกันคุณภาพ ปล่อยให้ในบางเขตพื้นที่การศึกษา มีโรงเรียนที่ถูกทอดทิ้ง มีนักเรียนที่ผลสัมฤทธิ์ต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ตนจึงให้ สพฐ.ไปศึกษาวิธีทำข้อตกลงให้เขตพื้นที่การศึกษารับผิดชอบในผลงานของตัวเอง โดยโยงไปกับการพิจารณาความดีความชอบ การแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา
“การพิจารณาความดีความชอบ การแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ต้องเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ในการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ฯของตัวเอง โดยยึดดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น ผลการพัฒนาครูในพื้นที่ การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก การกระจายคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่มีโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงแค่ไม่กี่แห่ง ที่ปล่อยให้โรงเรียนส่วนใหญ่ที่เหลือถูกทอดทิ้งโดยไม่ดูแลคุณภาพ ทั้งนี้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษารายใดจะได้รับการพิจารณาให้โยกย้ายไปอยู่พื้นที่ใดก็จะให้พิจาณาจากผลงานที่ตนเองทำไว้ ถ้าอยู่แล้วคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่แย่ลง ก็ไม่ควรได้รับโอกาสย้ายไปอยู่จังหวัดใหญ่ขึ้น” นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า การทำบันทึกข้อตกลงนี้ จะช่วยให้ สพฐ.เรียกร้องให้เขตพื้นที่การศึกษา รับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาได้มากขึ้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปศึกษารายละเอียดในแง่กฎหมายมา พร้อมกันนี้ อาจจะต้องนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ด้วย เพราะต้องมีการปรับแก้เกณฑ์พิจารณาความดีความชอบของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้ที่ผลสัมฤทธิ์จริงที่เกิดกับผู้เรียนและโรงเรียนแทน