“จาตุรนต์” เล็งปรับเงินรายหัวเผยมอบโจทย์ให้ทั้งเอกชน พื้นฐาน ร่วมคิดเหตุมีหลายประเด็นควรทบทวน พร้อมมอบการบ้าน สป.เป็นเจ้าจัดเวิร์กชอปใหญ่ทั้งกระทรวงเดือน ก.ย.เพื่อเตรียมประกาศการศึกษาวาระแห่งชาติ ขณะที่ให้ สคบส.ประเมินบทบาทตัวเองพัฒนาครูได้ตามเป้าหรือไม่ พร้อมเปิดช่องยกสถานะเป็นองค์การมหาชน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานแก่ผู้บริหารสำนักงานปลัด ศธ.ว่า ตนได้มอบ สป.ศธ.รับเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) ใหญ่ของ ศธ.ในช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยเชิญองค์กรหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานการศึกษาและประกาศการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ขอให้ สป.ศธ.เข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการดูแลเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และสื่อการเรียนการสอนที่ใช้กับแท็บเล็ต รวมถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ การสร้างมาตรฐานของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เนื้อหา แบบทดสอบเป็นนโยบายที่ตนให้ความสำคัญลำดับต้นๆ โดยเฉพาะการใช้แท็บเล็ตจะให้ความสำคัญต่อเนื้อหาที่เด็กต้องใช้เรียน
“ในเรื่องของการพัฒนาครูนั้น ผมขอให้ไปทำการประเมินบทบาทของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบส.) ว่าในภาพรวมของการพัฒนาครูทั้งระบบนั้นมีการดำเนินการมากน้อยเพียงใด ได้ผลอย่างไร และถ้าจะให้เป็นไปตามนโยบายได้ครูมีคุณภาพ และมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนจะต้องทำอย่างไร ซึ่งให้ไปหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบและให้ดูว่า สคบส.จะต้องปรับบทบาทตนเองมากๆ อย่างไร รวมทั้งให้ดูด้วยว่าจากที่มีสถานะเป็นส่วนราชการ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องปรับเปลี่ยนสถานะมาเป็นองค์การมหาชน อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นก็จะเสนอไปพร้อมกับแผนพัฒนาครูทั้งระบบ”
นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน ตนจะสนับสนุนให้มีสำนักงานเลขาธิการภาคทั่วประเทศ และให้ผู้ตรวจราชการ 13 เขตเป็นผู้ดูแล เพราะดูแล้วว่ามีความจำเป็นต่อการทำงานในภาพรวมของ ศธ.และยังมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานของรัฐมนตรี ซึ่งหน่วยงานนี้จะเน้นทำงานวิชาการ งานวิจัยและการตรวจสอบ ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของผู้ตรวจราชการกระทรวงอื่นๆ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทาง สป.ศธ.ได้ขอให้ตนช่วยผลักดันกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ทั้งที่ค้างอยู่และเร่งรัดเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 5 เรื่อง ได้แก่ การฟื้นฟูเยียวยาโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย, ร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์สำหรับโรงเรียนในระบบ, การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในปี 2555-2556 ให้ได้ตามเงินอุดหนุนโดยเสนอให้ใช่งบประมาณเหลือจ่ายของ ศธ.จำนวนกว่า 2,500 ล้านบาท หากไม่เพียงพอเสนอให้ใช้งบประมาณกลางปี 2556-2557 และการเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาของครูในสังกัดสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 6,124 คน
“เรื่องเงินอุดหนุนรายหัวนั้นผมมองว่ามีปัญหาหลายแง่มุมที่ควรต้องทบทวน เช่น กศน.บอกว่าจ้างครูได้น้อยเพราะได้เงินอุดหนุนรายหัวน้อย เนื่องจากกำหนดว่าจะต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 60 คนจึงจะมีเงินอุดหนุนเพียงพอสามารถจ้างครูได้ 1 คน ซึ่งผมเห็นว่าแค่เริ่มต้นคิดก็น่าจะผิดไปเยอะเป็นการบังคับแต่ต้นให้ห้องเรียนต้องใหญ่แล้วการเรียนจะได้ผลได้อย่างไร ซึ่งผมกำลังให้โจทย์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาร่วมคิดทบทวนเพราะเงินอุดหนุนมีผลกระทบต่อโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนเล็ก ยังรวมไปถึงโรงเรียนขนาดเล็กด้วย”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว