xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ไม่เอาด้วยยกเลิกใช้ O-NET ชี้เดินมาไกลหากถอยกลับกระทบสอบเข้า ม.1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศึกษาฯ ไม่เอนเอียงตาม สทศ.ยกเลิกใช้คะแนน O-Net ส่วนหนึ่งจบ ป.6 “จาตุรนต์” ชี้การทดสอบการวัดมาตรฐานเป็นเรื่องจำเป็นและต้องทำทุกคนไม่ใช่สุ่มสอบ มอบ สทศ.และ สพฐ.ร่วมวางระบบวัดผลกลางที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ “ชินภัทร” ระบุเดินหน้ามาไกลแล้วไม่ใช่เวลาถอยหลังหากยกเลิกกระทบต่อการคัดเลือกเข้าเรียนต่อ ม.1 ที่ร.ร.กำหนดให้คะแนน O-Net เป็นองคประกอบในการคัด ฟาก นักวิชาการ เห็นด้วยกับ สทศ.หวั่นยัดเยียดวิชาการเกินไปจะส่งผลเด็กเบื่อเรียน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เสนอให้แก้ไขประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การใช้ผลการแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยให้ยกเลิกการนำคะแนน O-Net มาเป็นส่วนหนึ่งในการจบการศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าทำให้เด็กเกิดความเครียด และครูเน้นติววิชาการซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพเด็ก ว่า ตนยังไม่ทราบข้อเสนอดังกล่าวแต่ที่ผ่านมามีการหารือว่าจะเพิ่มการวัดผลให้ครบทุกชั้นปี ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเราจัดการศึกษาโดยไม่เคยมีระบบการทดสอบวัดผลที่เป็นระบบกลางที่ได้มาตรฐาน จนกระทั่งเมื่อมีการตั้ง สทศ.ก็เริ่มมีการจัดสอบวัดมาตรฐาน และพัฒนาจนการสอบเริ่มมีมาตรฐานขึ้น ทำให้โรงเรียนได้รู้จุดบกพร่อง เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด

เพราะฉะนั้น ส่วนตัวคิดว่าระบบการทดสอบวัดผลยังเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อไป และการทดสอบจะต้องทำทุกคนไม่ใช่สุ่มสอบ เพราะเราต้องการผลที่ได้ไปใช้เพื่อการพัฒนาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ส่วนเรื่องที่มีผลวิจัยระบุว่าการสอบ O-Net ป.6 ทำให้เด็กเกิดความเครียดนั้น เป็นอีกปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตามตนได้ขอให้ สทศ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปหารือร่วมกันว่าระบบการวัดผลกลางนั้นควรจะเป็นรูปแบบใด ซึ่งก็อาจจะเป็น O-Net ที่จัดสอบโดย สทศ.หรือเป็นระบบที่ดำเนินการโดย สพฐ.ก็ได้ แต่จะต้องเป็นระบบที่ได้มาตรฐาน

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เพราะเรื่องนี้เดินหน้ามาไกลแล้ว และต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับคะแนน O-Net อย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อก่อนจะเห็นได้ว่าคะแนน O-Net ไม่มีความหมาย เชื่อถือไม่ได้ และไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ศธ.จึงพยายามทำให้คะแนน O-Net มีความหมายทั้งกับครู นักเรียน และโรงเรียน เราจึงต้องเดินหน้าต่อไป ส่วนงานวิจัยที่ระบุว่าการสอบทำให้เด็กเครียด และครูเน้นติวแต่วิชาการนั้น หากมีปัญหาเกิดขึ้นจริงที่เป็นอาการข้างเคียงจากการสอบ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไข เพื่อให้การดำเนินการประเมินผลระดับชาติมีผลต่อวงจรในการพัฒนาการศึกษาของเด็กไม่ใช่เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นแล้วจะต้องเดินถอยหลัง

“หากจะใช้วิธีการสุ่มสอบ O-Net ชั้น ป.6 แทนการสอบทุกคนเช่นปัจจุบันตามข้อเสนอนั้น ผมว่าต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียทั้งหมดก่อน ซึ่งตามหลักวิชาการก็สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติจะทำให้เด็กขาดความตั้งใจ ไม่เอาใจใส่และขาดความเอาจริงเอาจังกับการสอบ เพราะ O-Net จะไม่ได้มีผลต่อการเรียนของเขา ที่สำคัญหากเด็ก ป.6 ไม่ได้สอบ O-Net ทุกคน ก็จะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ด้วย เพราะขณะนี้โรงเรียนต่างๆ กำหนดให้คะแนน O-Net เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อในชั้น ม.1 ดังนั้นจึงคิดว่าควรจะใช้คะแนน O-Net ให้เกิดประโยชน์ต่อไปไม่ใช่เดินถอยหลัง” นายชินภัทร กล่าว

ศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบันเก่าแก่ กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้ยกเลิกการใช้ O-Net ป.6 มามีส่วนในการจบการศึกษา เพราะปรัชญาการศึกษาระดับประถม คือการสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ดังนั้นถ้าเราเอาวิชาการไปใส่เด็กมากเกินไป เด็กจะเครียดและเบื่อการเรียนในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น