xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” ไฟเขียวเร่งรัดพัฒนาเด็กป3-6ให้อ่านออกเขียนได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” ไฟเขียวประกาศ ศธ.มาตรการเร่งรัดคุณภาพอ่านรู้เรื่องสื่อสารได้ ใช้จี้เขตพื้นที่เร่งรัดพัฒนาเด็ก ป.3 ป.6 ต้องอ่านออกเขียนได้ ระบุจะกำหนดเป็นมาตรการระยะยาวและให้ สพฐ. ไปสร้างแบบทดสอบภาษาไทยโดยเฉพาะเพื่อจะได้รู้ศักยภาพที่แท้จริง ฟาก สพฐ. โชว์คู่มือและแนวปฏิบัติคัดกรองเด็กและเริ่มคัดกรองเด็ก 9-20 ก.ย.นี้ก่อนนำมาพัฒนาในช่วงปิดเทอม เตรียมมัดมือเขตพื้นที่ฯ มาเซ็น MOU ร่วมรับผิดชอบพัฒนาการอ่านของเด็ก 22 ก.ย.นี้ จะเริ่มย้ำสิ้นปีการศึกษา 56 กำหนดมาตรการระยะยาว 

วันนี้ (5 ก.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และนางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมแถลงข่าวประกาศนโยบายเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ “นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องไม่มี” โดย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ศธ.ได้มีนโยบายปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ดังนั้น วันนี้ตนจึงได้ ลงนามใน ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ โดยจะให้เป็นนโยบายเร่งรัดที่จะทำในปีการศึกษา 2556 นี้. ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะเริ่มขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยนำร่องที่นักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ก่อน โดยจะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ ไปดำเนินกาคัดกรองหรือสแกนนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหาให้แล้วเสร็จระหว่างวันที่ 9-20 ก.ย.นี้  จากนั้นให้มีการเร่งรัดพัฒนาครู ตามผลการประเมินนักเรียน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2556 หรือช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 และติดตามนิเทศก์และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา จากนั้นให้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อ สพฐ.ทุกภาคเรียน

ศธ.ได้เตรียมมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวไว้ด้วยเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ภาษาไทยซึ่งกำหนดไว้ในแผนปฏิรูปการเรียนรู้ของ ศธ. ที่สำคัญ ได้ให้ สพฐ.หาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยมาพัฒนาและออกแบบทดสอบสมรรถนะด้านภาษาไทยขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราไม่มีแบบทดสอบภาษาไทยโดยเฉพาะเหมือนกับแบบทดสอบทางภาษาในภาษาอื่น ๆ ทำให้ไม่รู้ความสามารถทางภาษาไทยที่แท้จริงของเด็ก ซึ่งแบบทดสอบทางภาษาไทยนี้จะพัฒนาไว้ให้โรงเรียนใช้สแกนเด็กของตัวเอง เพื่อวางแผนพัฒนาทักษะทางภาษาให้เด็กได้อย่างถูกต้อง"นายจาตุรนต์ กล่าว 

นายชินภัทร กล่าวว่า สพฐ. จะลงมือสแกนนักเรียนระหว่างวันที่ 9-20 ก.ย.นี้ หลังจากกระบวนการสแกนนักเรียนครั้งใหญ่แล้ว. จะได้ข้อมูลชี้ชัดวนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ทั่วประเทศ มีทักษะในการอ่านในระดับใด โดยจะมีการแบ่งแยกเด็กออกเป็น 4 กลุ่มตามผลการทดสอบ คือ กลุ่มดี กลุ่มพอใช้ กลุ่มต้องปรับปรุง. และกลุ่มอยู่ในขั้นอ่านไม่ได้เลย ขณะเดียวกัน ระหว่างปิดภาคเรียนก็จะมีการเตรียมความพร้อมของครูผู้สอน และทำแผนฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พอเปิดภาคเรียนที่ 2 ก็จะลงมือฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหาทันทีโดยมีมาตรการช่วยเหลือเด็กที่หลากหลาย

"สพฐ.ได้พัฒนาระบบรายงานข้อมูลแบบ Triple A รายงานข้อมูลผ่านระบบออนไลน์และแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาอัพเดรตข้อมูลทุก ๆ เดือน. เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้ทันทีว่า แต่ละเดือนยังเหลือเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่จำนวนเท่าใด อย่างไรก็ตาม ในวันมี่ 22 ก.ย.ซึ่ง ศธ.จะประกาศปฏิญญาเร่งรัดแก้ปัญหาการอ่านนั้น. จะมีการให้้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ลงนามใน MOU ว่า จะทำให้นักเรียนทีีมีปัญหาการอ่านหมดไปภายในสิ้นปีการศึกษา 2556 " นายชินภัทร กล่าว


ด้าน นางเบญลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้พัฒนาแบบทดสอบการอ่านเรียบร้อยแล้ว จะส่งแบบทดสอบให้เขตพื้นที่การศึกษาทางระบบออนไลน์พร้อมจัดส่งคู่มือในทดสอบและคู่ประเมินทักษะการอ่านของนักเรียนด้วย. โดยหลักการแล้ว แบบทดสอบจะมีคะแนนเต็ม 45 คะแนน. นักเรียนที่ได้คะแนน 0-17 คะแนน คือ กลุ่มที่อ่านไม่ได้ กลุ่มคะแนน 18-26 คะแนน เป็นกลุ่มที่อ่านออกเสียงอยู่ในระดับปรับปรุง กลุ่ม 27-35 คะแนน อยู่ในกลุ่มอ่านออกเสียงในระดับพอใช้ และ กลุ่ม 36-45 คะแนน เป็นกลุ่มอ่านออกเสียงในระดับดี
กำลังโหลดความคิดเห็น