xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายปฏิรูปหวย” เข้าพบ คปก.สกัดรัฐจ้องเพิ่มหวยตู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เครือข่ายปฏิรูปหวย” เข้าพบ คปก.ร่วมผลักดันร่าง กม.2 ฉบับ ปรับโฉมกองสลาก-อุดหนุนภาคประชาสังคม สกัดการเมืองจ้องเพิ่มหวยตู้ โกยเงินเข้ารัฐ เตรียมล่าชื่อหนุนกฎหมาย พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น ปชช.

วันนี้ (22 ส.ค.) ที่ห้องประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชั้น 19 อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยนายธนากร คมกฤส เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก เข้าพบนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยกิจการสลากเพื่อสังคม และร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม เพื่อขอให้ คปก. ร่วมพัฒนาร่างกฎหมายฉบับประชาชนทั้ง 2 ฉบับ
นายธนากร กล่าวว่า ขณะนี้ถึงจุดสุกงอมของสังคมที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยการนำเสนอและผลักดันกฎหมาย ทั้ง 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยกิจการสลากเพื่อสังคม และร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม เนื่องจากมีความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะปรับปรุง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 บางมาตราเพื่อตอบโจทย์ทางการเมืองในการหารายได้เข้ารัฐสนองนโยบายประชานิยม โดยการออกสลากใหม่ๆ เช่น หวยตู้ หวยออนไลน์ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคา การจัดสรรโควตาที่ไม่เป็นธรรม หรือหวยใต้ดิน ซึ่งเป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุด ทางภาคประชาสังคมคัดค้าน และได้เสนอให้ปฏิรูปกองสลาก โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมดูแลตามหลักสากลที่ทุกประเทศทั่วโลกนำเงินรายได้จากกิจการสลากส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ให้ทางวุฒิสภา เพื่อนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา ส่วนการเดินทางมา คปก.ครั้งนี้ เพื่อขอให้คปก.เป็นอีกแรงสนับสนุน โดยร่วมกันพัฒนาร่างกฎหมายฉบับประชาชนด้วย” นายธนากร กล่าว

ด้านนางสุนี กล่าวว่า หลังจากที่รับทราบข้อมูลชัดเจน ทาง คปก.ก็เห็นด้วยในหลักการ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สวัสดิการสังคมระยะยาวในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายที่มีการยกร่างขึ้นใหม่จะมีอุปสรรค เนื่องจากภครัฐไม่ต้องการให้เกิดกองทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงขณะนี้มีความพยายามควบรวมภารกิจกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ไปรวมอยู่กับกฎหมายประกันสังคม ซึ่งเป็นกระบวนการลดความซ้ำซ้อนกองทุนเก่าๆ ดังนั้น การจะเสนอตั้งกองทุนใดๆ ต้องศึกษาเรื่องการออกแบบกองทุนให้ไม่ซ้ำซ้อน นอกจากนี้ มีการเสนอ พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของสภา ดังนั้น การเสนอกฎหมายใหม่ที่ต้องใช้ขั้นตอนการเข้าชื่อ อาจต้องรอกฎหมายฉบับนี้ด้วย

ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยกิจการสลากเพื่อสังคมจะเป็นการปรับโฉมใหม่ของกองสลาก โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ และเกณฑ์การจัดสรรรายได้ให้มีความเป็นธรรมโปร่งใสมากขึ้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม เป็นกฎหมายใหม่เพื่อรองรับการทำงานของภาคประชาสังคมที่เข้าไปสนับสนุนการทำงานของภาครัฐด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งพิงตนเองได้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยได้รับงบประมาณจากรัฐสนับสนุนการทำงาน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคอย่างเดียว ขณะที่จากการศึกษากรณีตัวอย่างในประเทศอังกฤษ มีการนำเงินร้อยละ 80% มาใช้ในการตั้งกองทุน
สนับสนุนงานภาคประชาสังคมโดยเฉพาะ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอหลักการและเหตุผลต่อ คปก.ถึงความจำเป็น และ
ความไม่ซ้ำซ้อนในการยกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

“สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะมีการขอรายชื่อผู้สนับสนุนกฎหมาย 10,000 รายชื่อ พร้อมกับเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมกันปรับแก้ให้มีความเหมาะสม รอบด้าน และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น จากนั้นจึงจะนำเสนอร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอตามขั้นต่อไป” นายไพศาลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น