xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานยี้ “เหลิม” คุมบอร์ดประกันสังคม หวั่นการเมืองแทรก กองทุนเจ๊ง เล็งคว่ำร่าง กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คสรท.-เครือข่ายผู้ใช้แรงงานเตรียมนัดชุมนุมคว่ำร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับผ่าน กมธ.วิสามัญสภา ชี้ รมต.นั่งประธานบอร์ด สปส.หวั่นเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนทำกองทุนหายนะ เตรียมยื่นหนังสือต่อ กมธ.วุฒิสภา-ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ชี้สภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชนละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมือง เล็งชงร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสภาอีกรอบ แนะ “เฉลิม” ปราบยาเสพติด-ค้ามนุษย์ของบรัฐบาล อย่ามาล้วงเงินกองทุนประกันสังคม ห่วงกระทบความมั่นคงกองทุน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวในเวทีเสวนา “กฎหมายประกันสังคมกับอนาคตผู้ประกันตน” ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแล้ว และคาดว่าจะเข้าการพิจารณาสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 ในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีประเด็นที่น่าห่วง คือการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) จากที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับเดิมกำหนดให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ด สปส.จะทำให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหาร สปส.และกุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งด้านนโยบายและการบริหารทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบายและอนุมัติเอง และไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดี จึงน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาต่อกองทุนประกันสังคมที่ขณะนี้มีเงินกองทุนกว่า 1 ล้านล้านบาทและผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน

นายชาลี กล่าวอีกว่า ตนในฐานะหนึ่งใน กมธ.วิสามัญสภาที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ได้สงวนคำแปรญัตติไว้ หากเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ก็จะขอแปรญญัติให้แก้ไขเนื้อหาให้ปลัดกระทรวงแรงงานกลับมานั่งเป็นประธานบอร์ด สปส.รวมทั้งขอแปรญัติในเรื่องอื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนควรเกิดขึ้นทันทีเมื่อเข้าเป็นประกันตนไม่ควรกำหนดเงื่อนเวลาการเกิดสิทธิอย่างในปัจจุบัน เช่น กรณีเจ็บป่วยต้องส่งเงินสมทบต่อเนื่องถึง 3 เดือน จึงจะเกิดสิทธิ

ประธาน คสรท.กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนต่างจากร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ที่ คสรท.ร่วมกับเครือข่ายผู้ใช้แรงงานล่ารายชื่อกว่า 1.1 หมื่นชื่อ แต่ร่างกฎหมายก็ตกสภาไป เพราะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ยอมรับร่างกฎหมายเข้าพิจารณาในสภา ทั้งที่ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดยภาคประชาชนมุ่งเน้นให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระ มีประธานและเลขาธิการ สปส.มาจากการสรรหามืออาชีพมาบริหาร มีระบบการตรวจสอบและให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมเลือกตั้งผู้แทนเข้ามาเป็นกรรมการ สปส.โดยตรง

คสรท.จะร่วมกับเครือข่ายผู้ใช้แรงงานเคลื่อนไหวให้สภา นำร่าง พ.ร.บ.ของประชาชนกลับมาพิจารณาโดยจะไปยื่นหนังสือต่อประธานกมธ.สามัญด้านสิทธิมนุษยชน วุฒิสภาเพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนเข้าพิจารณา อีกทั้งจะไปยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีสภาฯไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมืองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและจะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยื่นต่อประธานสภาฯอีกครั้งโดยคาดว่าจะไปยื่นในเดือน ส.ค.นี้ รวมทั้งเมื่อสภาฯมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ผ่าน กมธ.วิสามัญของสภา และร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ ส.ส.เรวัต อารีรอบ และคณะเข้าสู่สภาในวาระที่ 2 คสรท.และเครือข่ายผู้ใช้แรงงานจะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภา” นายชาลี กล่าว

ด้านน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวว่า ตนเชื่อว่าหากร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของสภา ที่เขียนให้ รมว.แรงงาน เป็นประธานบอร์ด สปส.เข้ามาควบคุมทั้งนโยบายและการบริหารกองทุนแบบเบ็ดเสร็จ จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อกองทุนประกันสังคม

ไม่อยากให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารกองทุนประกันสังคม เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กลัวมากที่สุดเพราะจะทำให้กองทุนหายนะได้ อย่างกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ที่มีนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดและค้ามนุษย์ ก็อยากให้เสนอรัฐบาลจัดสรรงบมาดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ อย่ามาล้วงเอาเงินจากกองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นเงินของผู้ประกันตนไปดำเนินการเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล หากเข้ามาล้วงเงินประกันสังคมไปใช้ จะก่อให้ผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการเงินของกองทุนประกันสังคมในอนาคต” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ปัญหาเรื่องร่างกฎหมายประกันสังคมยังสามารถทำได้โดยภาคประชาชนสามารถยื่นหนังสือต่อประธานสภา และประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะ กมธ.วิสามัญของสภาไปแล้วโดยแก้ไขเนื้อหาให้ปลัดกระทรวงแรงงาน นั่งเป็นประธานบอร์ด สปส.เช่นเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น