xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านวิถีชีวิตลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรามักจะได้ยินเสมอ “ไทย-ลาว” เป็นพี่น้องกัน สังเกตได้จากภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างบ้านพี่เมืองน้อง พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่ต้องใช้ล่าม เราสามารถสื่อสารเข้าใจตรงกัน ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมใกล้เคียงบ้านเรามาก
สิ่งเหล่านี้ที่พูดกันปากต่อปาก จริงหรือไม่ ขอพิสูจน์ให้เห็นกับตา ได้ยินกับหู ทาง กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการรู้เขารู้เรารู้จักอาเซียน โดยพาคณะข้าราชการ สื่อมวลชน เดินทางไปศึกษาเรียนรู้สัมผัสอารยธรรม “หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลก ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี “อ้ายตุ้ย” ไกด์ชาวลาว พาไปสัมผัสทุกแง่ทุกมุม
อ้ายตุ้ย สร้างความประทับใจ ให้ ผู้เฒ่า ผู้แก่ จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ ต้อนรับคณะ โดยผู้เฒ่าผู้แก่อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วผูกด้ายสีขาวที่ข้อมือ ระหว่างผูกด้ายท่านจะพูดสิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต จับใจความได้ว่า “อย่าได้เจ็บป่วย ขอให้ร่ำรวย หน้าที่การงานเจริญรุ่งแรือง” การต้อนรับแม้จะเรียบง่ายแต่รู้สึกอบอุ่นเหมือนกลับสู่อ้อมแขนพ่อแม่ญาติพี่น้อง จากนั้นจัดเมนูอาหารหลากหลายให้เลือกทาน แต่ข้าวเปียกเส้น หนึ่งในเมนูที่ไม่ควรพลาด ลองชิมแล้วต้องยกนิ้วให้ อร่อยจริงๆ
ท้องอิ่มคราวนี้เริ่มตะลุยเพื่อศึกษาสถานที่สำคัญๆ เริ่มจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลวงพระบาง ในอดีตคือพระราชวังหลวง เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตลาวหลายพระองค์ ซึ่งจัดแบ่งเป็นห้องๆ อ้ายตุ้ย พาไปกราบพระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นพาชมห้องต่างๆ มีห้องหนึ่งเรียกความสนใจ นั่นก็คือห้องพระ มีพระพุทธรูปหลากหลายปาง มีขนาดไม่ใหญ่นัก อ้ายตุ้ย เล่าว่า พระพุทธรูปทุกองค์ทำจากทองคำแท้ๆ มิน่าล่ะ ถึงได้เข้มงวดในการเข้าชม ห้ามถ่ายรูป มีเจ้าหน้าที่เฝ้ามองชนิดตาไม่กะพริบทีเดียว
ต่อด้วย วัดเชียงทอง จุดเด่นพระอุโบสถ หรือชาวลาวเรียกว่า “สิม” หลังไม่ใหญ่โตนัก น่าสนใจตรงประตูของพระอุโบสถ แกะสลักสวยงามเช่นเดียวกับหน้าต่าง ภายในมีภาพพุทธประวัติ “พระสุธน-มโนราห์” ภาพเรื่องพระเจ้าสิบชาติ และภาพนิทานพื้นบ้าน มีลวดลายสวยงามโดดเด่นปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ
จากนั้นเดินทางมา วัดวิชุน ถือเป็นวัดที่มีความแปลกจากวัดอื่นๆ ในหลวงพระบาง ตรงพระเจดีย์พระปทุม หรือ พระธาตุดอกบัวใหญ่ มีลักษณะเป็นพระธาตุเจดีย์รูปโค้ง ซึ่งคนลาวเรียกว่า “พระธาตุหมากโม” ตามลักษณะที่คล้ายแตงโมผ่าครึ่ง
เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ อ้ายตุ้ย พามานั่งเรือชมทิวทัศน์สองฝากฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อมา “ถ้ำติ่ง” ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นพระยืน มีทั้งปางประทานพร และปางห้ามญาติ สมัยก่อนถ้ำแห่งนี้เป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน เทวดาผ่าติ่ง
“ความเชื่อยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้แต่ลดน้อยลง แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งเมื่อถึงวันเกิดจะอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐ์ไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ หรือตามวัดต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต” อ้ายตุ้ย เล่าประเพณีสงกรานต์ว่า คนลาวจะสรงน้ำพระจะผูกขันกับไม้ ต่างจากไทยใช้ตักน้ำ
จากนั้น อ้ายตุ้ย พาไปหมู่บ้านทอผ้าพื้นเมือง สินค้าพื้นเมืองเหล่านี้ ชาวบ้านจะนำไปขายที่ถนนคนเดินทุกวัน ชาวบ้านบางรายสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึก สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว
เช้าวันรุ่งขึ้น มีโอกาสร่วมทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว โดยมีพระภิกษุจาก 33 วัด หลายร้อยรูปเดินมารับบาตร เราจะจกข้าวเหนียวจากกระติ๊บใส่บาตร ซึ่งสงสัยว่าใส่ข้าวเหนียวอย่างเดียวแล้วกับข้าวล่ะ อ้ายตุ้ย ไขข้อสงสัยว่า ชาวบ้านจะทำกับข้าวไปถวายที่วัด นับว่าเป็นกุศโลบายของคนยุคก่อนจนถึงปัจจุบันที่ต้องการให้ชาวบ้านเดินเข้าวัด และใกล้จากสถานที่ใส่บาตร จะเป็นตลาดเช้า จึงแปลงกายเป็นพญาน้อยชมตลาดหลวงพระบาง จะเห็นชาวบ้านนำผ้าปูกับพื้นถนนแล้วนำสินค้าของตัวเองวางจำหน่าย นับว่าเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายที่เย้ายวนให้สัมผัสจริงๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น