xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าเขื่อนไชยะบุรี : ปิดฉากตำนานแก่งหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ร่วมคณะติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกของ สปป.ลาว และมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับประเทศไทยเพราะเอกชนไทยได้รับสัมปทานก่อสร้างและดำเนินการ รวมทั้งจะมีสัญญาผูกพันซื้อขายไฟฟ้าในอนาคตด้วย

โครงการแห่งนี้ตั้งอยู่ตอนกลางแม่น้ำโขงประมาณกึ่งกลางเส้นทางเวียงจันทน์-หลวงพระบาง ตั้งอยู่ในแขวงไชยะบุรี ถือเป็นโครงการกั้นแม่น้ำสายหลักแห่งแรกที่ลงมือดำเนินการ มูลค่าโครงการประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งมีบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ช.การช่างร่วมถือหุ้นและรับสัมปทานก่อสร้าง ด้วยเหตุที่เป็นโครงการกั้นแม่น้ำสายหลักซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติทำให้มีเสียงคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนามที่อยู่ปลายน้ำ ตลอดถึงองค์กรอนุรักษ์นานาชาติ หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission- MRC) ขอให้ประเทศลาวชะลอการก่อสร้างโครงการจนทางการลาวประกาศชะลอโครงการเพื่อปรับปรุงแบบก่อสร้างลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา

อย่างไรก็ตาม คำวิงวอนให้ชะลอโครงการหรือคำประกาศปรับปรุงแบบแปลนก่อสร้างล้วนแต่เป็นการแสดงละครตบตาชาวโลกทั้งสิ้น เนื่องจากในความเป็นจริงการก่อสร้างโครงการเขื่อนยักษ์แม่น้ำโขงแห่งนี้ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องขนาดที่ชาวบ้านและเรือที่แล่นผ่านจุดดังกล่าวบอกว่าก่อสร้างตลอด 24 ชั่วโมงทีเดียว

คณะติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนใช้เรือขนาด 200 แรงม้าจากหลวงพระบางแล่นลงไปทางใต้แล้วแล่นย้อนกลับทวนน้ำขึ้นไปยังหลวงพระบางเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2555 โดยพบกิจกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่รายทางจากแนวหัวเขื่อนซึ่งตั้งอยู่ที่จุดซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “แก่งหลวง” ดังนี้

บริเวณหัวเขื่อน : ตั้งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ทิศตะวันตก) กำหนดเป็นอาคารสำนักงานและกิจกรรมของเขื่อน มีการตัดถนนจากเมืองอุดมไชยมายังหัวเขื่อน ตัวถนนเริ่มปรากฏเลียบแนวแม่น้ำโขงประมาณ 5 กม. หากวัดจากเวลาล่องเรือจากจุดที่ถนนเริ่มปรากฏ (ด้านท้ายเขื่อน) ไปยังหัวเขื่อนใช้เวลาประมาณ 35-40 นาที ในวันที่สำรวจระดับน้ำแม่น้ำโขงขึ้นสูงมากใกล้ถึงจุดสูงสุดแต่แนวถนนยังสูงขึ้นไปจากระดับน้ำสูงสุดปกติประมาณ 50-70 เมตร

พื้นที่หัวเขื่อนได้ปรับสภาพเนินเขาและลาดซีเมนต์ ด้านบนมีสิ่งปลูกสร้างเป็นกลุ่มอาคารสำนักงาน 5-6 หลัง มีเสาธงชาติด้านหน้า ลึกเข้าไปเป็นกลุ่มอาคารที่พักจุดที่หนึ่ง มีแท็งก์น้ำสีขาวขนาดใหญ่ มีโรงผสมปูนซีเมนต์ รถผสมปูนประมาณ 10 คันจอดรออยู่ มีรถบรรทุกน้ำติดตัวอักษร “ช.การช่าง” วิ่งไปมา

ด้านล่างลงมาจากหัวเขื่อน พื้นที่พบเห็นรถแบ็กโฮ รถบรรทุกหินขนาดใหญ่จำนวนมากไม่น้อยกว่า 50 คันทำงานขนหินลงมาถมแม่น้ำเป็นลานกว้างไม่น้อยกว่า 10 ไร่ แนวหินยังถูกถมล้ำเข้ามาในแม่น้ำประมาณครึ่งหนึ่งของความกว้างแม่น้ำทั้งหมด ทำให้เรือต้องเบี่ยงออกไปฝั่งตะวันออกเพื่ออ้อมคันเขื่อนหินที่ถูกถมล้ำเข้ามา

จากหัวเขื่อนที่เป็นสำนักงานไล่มาตามแนวถนนมีการสร้างอาคารที่พักพนักงานเป็นอาคารถาวรหลายจุด แต่ละจุดมีไม่น้อยกว่า 10 หลัง (2 ชั้น) มีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านจากหัวเขื่อนข้ามมายังฝั่งตรงข้าม บนถนนเส้นดังกล่าวมีแบ็กโฮทำงานปรับแต่งพื้นที่เป็นระยะๆ และมีรถขนาดใหญ่วิ่งไปมารวมแล้วนับร้อยคัน

ลึกเข้ามาด้านท้ายเขื่อนยังพบหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึงเตรียมอพยพ ฝั่งทางด้านนี้ก็มีการตัดถนนใหม่เลียบแม่น้ำเช่นกัน คาดว่าเป็นเส้นทางให้ชาวบ้านที่จะอพยพมาอยู่หมู่บ้านใหม่ได้ใช้สัญจร เลยจากหัวเขื่อนมาประมาณ 1 กม. มีรถบรรทุก รถเกรด และแบ็กโฮทำงานอยู่ไม่น้อยกว่า 10 คันเพื่อปรับพื้นที่ ชาวบ้านบอกว่าจุดดังกล่าวเป็นที่จะสร้างบ้านพักให้ชาวบ้านที่ถูกอพยพมา

จากสภาพที่ปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่าโครงการเขื่อนไชยะบุรีในฐานะเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกใน สปป.ลาว และมีเอกชนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงหาได้ชะลอการก่อสร้างตามที่ปรากฏเป็นข่าวสารออกมา เพราะการก่อสร้างตัวอาคารสำนักงาน การปรับสภาพพื้นที่ ทำถนน และสาธารณูปโภค การเตรียมพื้นที่ก่อสร้างหมู่บ้านอพยพ ฯลฯ ชี้ชัดเจนว่าโครงการนี้เดินหน้าก่อสร้างอยู่ การปรับปรุงแบบแปลนก่อสร้างก็แค่การปรับรายละเอียดเชิงเทคนิคเท่านั้น หาได้มีผลต่อภาพรวมของโครงการแต่อย่างใด

“สิ้นสุดตำนานแก่งหลวง”

จุดที่ตั้งของโครงการเขื่อนไชยะบุรี ตั้งบนพื้นที่ซึ่งนักเดินเรือท้องถิ่นเรียกว่า “แก่งหลวง” เป็นแก่งที่อันตรายที่สุดในเส้นทางนับจากแขวงบ่อแก้วลงไปถึงเวียงจันทน์เลยทีเดียว และแก่งหลวงแห่งนี้มีตำนานผูกพันกับความเชื่อคนท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง

ท้าวบุญมี อินทะวุด “นายน้ำ” หรือกัปตันเรือโดยสารชาวหลวงพระบาง บอกว่า ในเส้นทางนี้แก่งที่อันตรายที่สุดมีสองแก่ง คือ แก่งธนู อยู่แถวๆ ถ้ำติ่งก่อนเข้าหลวงพระบาง และแก่งหลวง ซึ่งเป็นจุดที่จะสร้างเขื่อน ชาวเรือเชื่อว่าที่แก่งหลวงมีผี (หรืออารักษ์ตามคติไทย) เรียกว่าเจ้าพ่อผาแดง เป็นผีที่ใหญ่กว่าผีทั้งปวงในแม่น้ำโขง คนเรือวิ่งผ่านต้องไม่ลืมที่จะทำพิธีบูชาสักการะก่อนจะผ่านไป ขนาดที่ต้องเก็บเสื้อผ้าโดยเฉพาะเสื้อผ้าผู้หญิงที่ตากไว้ท้ายเรือให้เรียบร้อยไม่ลบหลู่ ในสมัยก่อนถือขนาดว่าจะไม่เดินทางผ่านแก่งหลวงในวันพระเพราะเป็นวันที่ผีแรง

ท้าวบุญมียังเล่าด้วยว่า คนลาวหลวงพระบางนับถือเจ้าเพ็ดชะลาด (เจ้าเพชรราช รัตนวงศา วีรบุรุษชาติลาวผู้ก่อตั้งขบวนการลาวอิสระ เชื้อสายอุปราชเมืองหลวงพระบาง) ในแง่ที่เป็นคนมีคาถาอาคมเหนือคนทั่วไป ที่ไหนมีสัตว์ร้ายที่ชาวบ้านปราบไม่อยู่เจ้าเพ็ดชะลาดมีความเก่งกาจไปพิชิตได้ หรือแม้แต่แก่งต่างๆ ตามลำน้ำโขงชาวบ้านก็เชื่อว่าแต่ละแก่งมีผีประจำแก่ง แต่เจ้าเพ็ดชะลาดมีอาคมที่ชนะผีเหล่านั้นได้ น้ำที่แรงเชี่ยวกรากจะหยุดให้กับเรือของเจ้าเพ็ดชะลาด ยกเว้นแต่ 2 แห่งสำคัญเท่านั้นที่มีอิทธิฤทธิ์เทียบเท่ากัน คือ แก่งธนู กับแก่งหลวง ตำนานดังกล่าวบ่งบอกความแรงเชี่ยวกรากน่ากลัวของแก่งหลวงเป็นอย่างดี แม้แต่ปัจจุบันที่มีเรือเหล็กแรงม้าสูงคนเรือที่ไม่ชำนาญยังต้องว่าจ้างกัปตันท้องถิ่นที่ชำนาญเส้นทางจุดนี้โดยเฉพาะ

ชาวลาวบางกลุ่มมีตำนานของแก่งหลวงที่ต่างไปจากมุมมองของชาวเรือ โดยมีการเล่าขานกันว่า หลังจากที่ฝรั่งเศสมาปกครองประเทศลาว ได้สะสมรวบรวมเงินทองของมีค่าจำนวนมากเอาไว้ เมื่อฝรั่งเศสต้องถอนกำลังออกจากประเทศลาว มีเรือของข้าหลวงฝรั่งเศสลำหนึ่งบรรทุกสมบัติมีค่าโดยเฉพาะทองคำจำนวนมากเกิดล่มที่แก่งหลวง และจนบัดนั้นมาก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถกู้เรือนำเอาสมบัติเหล่านั้นขึ้นมาได้เลย มีความพยายามของทางการอยู่เช่นกันแต่ก็ล้มเหลวเพราะน้ำแรงมาก

แต่ปัจจุบันกำลังมีการถมหินทำคันเขื่อนลงมาในช่องเขาบังคับน้ำให้ไหลไปทางเดียว เปลี่ยนแปลงสภาพแก่งหลวงไปทีละน้อย และหากมีการสร้างคันเขื่อนแล้วเสร็จแก่งหลวงที่เลื่องชื่อในตำนานเดินเรือของชาวลาวก็จะถึงกาลอวสาน และไม่แน่ว่าจะมีการพยายามกู้เรือฝรั่งเศสงมสมบัติหลวงพระบางตามที่มีการเล่าขานกันในหมู่คนท้องถิ่นหรือไม่อย่างไร

แต่ที่แน่ๆ ผู้มีอิทธิฤทธิ์สูงสุดที่ชาวลาวนับถือกันมาคือ เจ้าเพ็ดชะลาดผู้มีอาคมแก่กล้า หรือเจ้าผาแดง อารักษ์แห่งแก่งหลวงที่ยิ่งใหญ่ดุร้ายที่สุด และอาจรวมไปถึงตำนานเรือสมบัติที่ไม่มีผู้ใดกู้ขึ้นมาได้ก็จะต้องพ่ายแพ้แก่ผู้มีอิทธิฤทธิ์สูงสุดตนใหม่ที่ชื่อว่า “ทุนนิยม” นั่นเอง





กำลังโหลดความคิดเห็น