xs
xsm
sm
md
lg

“หลวงพระบาง” เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยายกาศเมืองหลวงพระบางริมฝั่งแม่น้ำโขง
จากอดีตดินแดน“ยูโธเปียของนักอุดมคติ”และ“ธรรมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” วันนี้เมืองมรดกโลก“หลวงพระบาง”(หลวงพะบาง)สปป.ลาว เปลี่ยนโฉม เปลี่ยนหน้าตาไปตามกระแสธารการท่องเที่ยวและวิถีแห่งโลกยุคใหม่

เปรียบดังการสลัดคราบจากสาวน้อยบริสุทธิ์ใสซื่อ ไร้ประทินโฉมฉาบทา มาเป็นสาวสะพรั่งที่กร้านโลกขึ้น มีจริตมากขึ้น รักสวยรักงาม นิยมเขียนคิ้วทาปาก แต่โชคดีที่สาวสวยคนนี้ยังไม่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา วันนี้เธอจึงยังคงสงวนท่าที ดูน่ารัก มีเสน่ห์แตกต่างไปอีกแบบจากสมัยเมื่อแรกแย้ม

เชียงของ-หลวงพระบาง

การเดินทางสู่หลวงพระบางในทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ใช้เส้นทางน้ำสายคุ้นเคย โดยตั้งต้นออกสตาร์ทกันที่ท่าเรือข้ามแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มุ่งหน้าสู่ฝั่งลาวที่บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว เพื่อนั่งเรือจากที่นี่เดินทางสู่เมืองมรดกโลก ซึ่งมีทั้งบริการเรือเร็วและเรือหวานเย็นหรือเรือช้าให้เลือก

สำหรับเรือเร็ว(ลำเล็ก)นั้นเคยนั่งครั้งเดียวแล้วเข็ด เพราะแม้จะถึงเร็วกว่า 1 เท่าตัว(ใช้เวลาเดินทางประมาณค่อนวัน) แต่ประทานโทษ มันทั้งเมื่อย ทั้งลุ้น ทั้งเสี่ยง เพราะต้องนั่งสวมหมวกกันน็อคตัวเกร็งไปกับจิตใจระทึกตุ๊มๆต่อมๆ ดังนั้นเมื่อประสบการณ์เป็นบทเรียนงานนี้เราจึงเลือกใช้บริการเรือหวานเย็นไปแบบไม่รีบร้อน

เรือหวานเย็นเป็นเรือลำใหญ่ นั่งได้ร่วม 20-30 คน มีการรับสัปทานวิ่งกันอยู่ไม่กี่เจ้า โดยมี“เรือหลวงทราย” เป็นผู้บุกเบิกวิ่งเป็นเจ้าแรกในเส้นทางสายนี้
ปากเบง เมืองพักระหว่างทาง
เรือหวานเย็นใช้เวลาเดินทาง 2 วัน แล่นไปเรื่อยๆเอื่อยๆ ระหว่างทางเรือจะแวะพักค้างคืนกลางทาง(1 คืน)ที่บ้านปากแบ่ง(ปากเบง) เมืองสงบๆเล็กๆริมฝั่งโขง ซึ่งมี“หลวงทรายลอดจ์”เป็นที่พักที่ได้ชื่อว่าหรูหราสุด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดี เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติไม่น้อยเลย

นอกจากนี้ในเส้นทางยังมีจุดแวะขึ้นชมวิถีชีวิตชาวบ้านริมน้ำโขงที่“บ้านห้วยหน่อ(ไม้)ขม”ในวันแรก แวะที่“บ้านบ่อ”ในวันที่สอง แล้วปิดท้ายด้วยการแวะเที่ยว“ถ้ำติ่ง”เมื่อก่อนจะถึงท่าเรือเมืองหลวงพระบางประมาณ 45 นาที

ถ้ำติ่ง เป็นถ้ำริมหน้าผาบริเวณรอยต่อของแม่น้ำ 2 สี คือแม่น้ำโขงกับแม่น้ำอู มีอยู่ 2 ถ้ำด้วยกัน คือ“ถ้ำเทิง”(ถ้ำบน)กับ“ถ้ำลุ่ม”(ถ้ำล่าง) ซึ่งกว่า 80 % ของนักท่องเที่ยวจะเน้นไปที่ถ้ำติ่งล่าง เพราะมีอยู่ใกล้กว่า เดินขึ้นไปง่ายกว่า และมีสิ่งน่าสนใจมากกว่า
พระพุทธรูปในถ้ำติ่ง
ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มถ้ำติ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบาง และเคยมีสถานะเป็นวัดมาก่อน ปัจจุบันถ้ำติ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเส้นรอบนอกเมืองหลวงพระบางที่โดดเด่นไม่น้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชาวบ้านนำมาถวายเป็นพุทธบูชามากมายกว่า 2,500 องค์

เดิมพระพุทธรูปที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปพื้นบ้านที่ชาวลาวนำมาถวาย แต่ด้วยการท่องเที่ยวที่บูมขึ้นมากมายในช่วงหลัง จึงมีชาวไทยนำมาพระพุทธรูปมาถวายไว้ที่ถ้ำติ่งด้วย ส่วนในอนาคตถ้ำติ่งจะกลายเป็นที่นิยมในการบนบานศาลกล่าว ขอเลข ขอหวย ของคนไทยหลายคนที่เดินทางไปเที่ยวหลวงพระบางหรือเปล่า? นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง
สภาพอาคารบ้านเรือนเก่ากับวิถีใหม่
หลวงพระบางยุคใหม่

“สะบายดี”(สวัสดี)

ชาวลาวเมืองหลวงพระบางกล่าวทักทายกับ“ตะลอนเที่ยว” ด้วยสำเนียงทรงอันเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ในทันทีที่ก้าวขึ้นจากท่าเรือเหยียบดินแดนมรดกโลก

บรรยากาศเมืองหลวงพระบางวันนี้ ดูคึกคักมีสีสันต่างไปจากอดีตพอสมควร เรียกว่าสมฐานะเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของสปป.ลาว แต่ด้วยวิถีที่เข้มเข็งของคนรุ่นเก่าผสานกับความเป็นเมืองมรดกโลก ทำให้ลักษณะทางกายภาพของเมืองถูกควบคุม ไม่สามารถขยายเขตเมืองเก่าได้ ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้ ไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่ดูแปลกปลอมผิดฝาผิดตัวได้ อาคารต่างๆที่ทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สอย ต้องคงสภาพหน้าตาภายนอก ส่วนภายในสามารถตกแต่งให้มีแนวทางเฉพาะได้ตามแบบที่ยูเนสโกอนุญาต

อย่างไรก็ตามแม้อาคารจะถูกควบคุม แต่ก็ไม่สามารถควบคุมเรื่องการของท่องเที่ยวที่โตวันโตคืนได้ นั่นจึงทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในตัวเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ปรับเปลี่ยน แปรเปลี่ยนไปตามนักท่องเที่ยว เม็ดเงิน และความเจริญทางวัตถุที่หลั่งใหลเข้ามา

ทำให้บรรยากาศแบบลาวเก่าก่อนลดน้อยถอยลง ถูกแทนที่ ปรับแต่ง ใส่ความเป็นตะวันตก ใส่สีสันจริตความเป็นเมืองท่องเที่ยวยุคใหม่เข้าไปมากพอดู

หลวงพระบางในวันนี้ โดยเฉพาะในตัวเมืองเก่าบนถนนสายหลักกลางเมือง(ถ.สีสะหว่างวง) ดูเพียบพูนไปด้วยกลิ่นอายตะวันตก ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ฯ อีกทั้งยังมากไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งฝรั่ง ญี่ปุ่น และคนไทย
ตักบาตรข้าวเหนียวเสน่ห์ยามเช้าแห่งหลวงพระบาง
ยามเช้าบนถนนหลักสายนี้ไล่ไปตั้งแต่หน้าที่ทำการไปรษณีย์(ห้องกานไปสะนี)จนถึงหน้าวัดเชียงทอง จะดูมีชีวิตชีวาไปด้วยวิถีการ“ตักบาตรข้าวเหนียว” เอกลักษณ์อันเป็นเอกอุขึ้นชื่อของหลวงพระบาง เปรียบดังไฟท์บังคับให้คนที่มาเยือนเมืองนี้ ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ไปเฝ้ารอตักบาตร

หลังเสียงย่ำกะลอดังขึ้น (กะลอ : เครื่องตีของลาวมีลักษณะคล้ายกลอง) สักพักพระ-เณร ตามวัดต่างๆจะทยอยเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งออกมาบิณฑบาต ให้ชาวบ้าน ชาวเมือง และนักท่องเที่ยว ได้จกข้าวเหนียวส่งลงบาตรกันอย่างอิ่มเอิบใจ

อย่างไรก็ตามด้วยความขึ้นชื่อของวิถีการตักบาตรข้าวเหนียว ทำให้พักหลังๆการตักบาตรได้กลายเป็นแฟชั่นสำหรับถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวหลายๆคนไปเสียฉิบ ขณะที่แม่ค้าขายชาวลาวหลายคนที่หาบข้าวเหนียวขายให้กับนักท่องเที่ยวก็ทำไม่เหมาะสม ด้วยการยื้อแย่งขายของ การคิดราคาแพงเกินจริงจนน่าตกใจถ้าไม่สอบถามราคาก่อนล่วงหน้า แถมบางครั้งยังมีการคิดจำนวนกระติ๊บโกงกันอย่างซึ่งๆหน้า คือคิดเกินที่ขายจริงไปอีกหลายกระติ๊บ ดังนั้นใครที่จะตักบาตรข้าวเหนียว ควรหาทางป้องกันรับมือกับเรื่องเหล่านี้ให้ดี

ส่วนใครที่อยากจะตักบาตรแบบได้วิถีลาว “ตะลอนเที่ยว” แนะนำให้หลบเลี่ยงจากถนนสายหลักไปในซอย ในถนนสายรองที่พระ-เณรท่านเดินผ่าน เพื่อหลีกหนีความพลุกพล่านจากนักท่องเที่ยวที่วันนี้การตักบาตรข้าวเหนียวบนถนนสายหลัก
ตลาดเช้ากลางเมือง ไก่ตัวนี้มีไว้ขาย ไม่ได้มีไว้ขัน
หลังการตักบาตรข้าวเหนียวผ่านพ้น ความคึกคักยามเช้าของเมืองนี้ยังไม่หนีไปไหน ร้านรวงต่างๆเริ่มทยอยเปิด ในขณะที่“ตลาดเช้า”ในซอยข้างๆวัดโพนชัยนั้น ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ ที่นี่ทุกๆเช้าจะมีพ่อค้า-แม่ค้านำสินค้าพื้นเมือง พืชผลทางการเกษตร ปลา และอาหารพื้นบ้าน มาวางขายให้ชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อหา ในบรรยากาศพื้นบ้านที่นับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยเต็มที

ครั้นพอถึงยามสาย แสงแดดส่องแรงขึ้น ความคึกคักของเมืองชะลอตัวลง เปลี่ยนเข้าสู่โหมดเนิบนาบแต่ไม่แน่นิ่ง ชาวบ้านต่างเดินหน้าประกอบอาชีพไปตามวิถี นักท่องเที่ยวแยกย้ายกันออกเที่ยวตามเส้นทางที่ตัวเองเลือก แต่บางคนไม่เลือกไปไหน หากแต่ขอนั่งๆนอนๆ เอกเขนกอ่านหนังสืออยู่ในที่พัก หรือนั่งจิบเบียร์เย็นๆดูเมืองหลวงพระบางเดินไปอย่างช้าๆ
อาหารชวนกินในตรอกอาหาร
จากนั้นเมื่อเย็นย่ำยามราตรีมาถึง หลวงพระบางสลัดความเซื่องเซาทิ้ง กลับคืนสู่ความคึกคักอีกครั้ง ที่ที่มาพร้อมกับความมืดเห็นจะไม่พ้น “ตลาดมืด”หรือ”ไนท์มาร์เก็ต”หรือ“ถนนคนเดิน” ที่คลาคล่ำไปด้วยสินค้าแบกะดิน สารพัน สารพัน ข้างตลาดมีตรอกอาหาร ขายอาหารพื้นเมือง ของกินสดๆใหม่มากมาย

ส่วนร้านอาหาร(กลางคืน) ผับ บาร์ เธค นั้นไม่ต้องพูดถึง พอสิ้นแสงตะวัน สถานบันเทิงเหล่านี้ทั้งในเขตนอกเมืองและในเมืองเก่า พลันตื่นจากหลับใหล นับเป็นอีกหนึ่งสีสันของหลวงพระบาง ที่ “ราตรีนี้ยังอีกยาวไกล”...
พูสี ตั้งเด่นกลางเมือง มีพระธาตุจอมพูสีตระหง่านอยู่บนยอด
มนต์มรดกโลก

แม้นี่ไม่ใช่การมาเยือนหลวงพระบางครั้งแรก แต่มนต์มรดกโลกเมืองนี้ยังคงมีเสน่ห์ มีดี ชวนให้สัมผัสชื่นชมกันไม่สร่างซา

แน่นอนว่าใครที่มาเที่ยวหลวงพระบางแล้ว ไม่ได้ขึ้น“พูสี” ชาวลาวเขาบอกว่า เหมือนยังมาไม่ถึงหลวงพระบาง
พระธาตุจอมพูสี พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง
พูสีเป็นขุนเขาขนาดย่อม ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง ข้างบนมี“พระธาตุจอมพูสี”หลักเมืองหลวงพระบาง พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2347 ในรูปทรงดอกบัวสีทองอร่ามประดิษฐานอยู่อย่างโดดเด่น ให้เราๆท่านๆเดินพอเหงื่อซึมขึ้นไปสักการะพระธาตุองค์นี้

นอกจากนี้บนยอดพูสียังเป็นจุดชมวิวเมืองหลวงพระบางชั้นเยี่ยม สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองได้ทั้งฝั่งแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง
หอพิพิธภัณฑ์ฯเมื่อมองลงมาจากยอดพูสี
ฝั่งแม่น้ำคาน มองลงไปจะเห็นสายน้ำคานไหลเลี้ยวเคียงคู่กับบ้านเมืองที่กำลังโตวันโตคืน

ฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อมองลงไป มุมหนึ่งจะเห็นทิวทัศน์ของเมืองในเขตอนุรักษ์ที่แม้วันนี้จะดูหนาตากว่าเมื่อก่อนมาก แต่ยังคงน่ายลสบายตาเพราะทัศนอุจาดยังไม่มากล้ำกราย ส่วนถ้ามองไปอีกมุมหนึ่งจะเห็นอาคารหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำโขง มีฉากหน้าเป็นซุ้มกิ่ง ก้าน ดอก ของซุ้มจำปาช่วยนำสายตาลงไปสู่ตัวอาคารอย่างสวยงาม
สิมวัดเชียงทอง สุดยอดศิลปกรรมล้านช้าง
หอพิพิธภัณฑ์ฯหรือพระราชวังหลวงเดิม ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพูสีฝั่งเส้นทางขึ้นลงหลัก ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ“พระบาง”พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ร่วมกับศิลปวัตถุต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญประจำเมือง

สำหรับสถานที่ไฮไลท์อีกแห่งหนึ่งในเมืองนี้ที่ใครพลาดการเที่ยวชมก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงหลวงหลวงพระบางไม่ต่างไปจากพูสี นั่นก็คือ “วัดเชียงทอง” อันลือลั่น

วัดเชียงทอง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่สวยงามที่สุดในสปป.ลาว

วัดเชียงทองมี 3 สิ่งหลักเป็นไฮไลท์ ได้แก่ สิม หอพระ และโรงเมี้ยนโกศ
ลวดลายประดับดอกดวงที่หอพระ ข้างหลังสิมวัดเชียงทอง
-“สิม”หรือ“โบสถ์” หัวใจของวัดเชียงทอง ได้ชื่อว่าเป็นสิมล้านช้างสมบูรณ์ที่สุด หลังคาสิมสร้างโค้งอ่อนช้อยทรงปีกนกเป็น 3 ชั้น ลดหลั่นปกคลุมต่ำลงมา บนสันกลางคามี“โหง่”หรือ“ช่อฟ้า” 17 ช่อ อันปราณีตสวยงาม อันบ่งบอกว่าเป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง ภายในสิมประดิษฐานพระประธานดูขรึมขลัง ประตูสิมด้านหน้าเป็นงานแกะสลักไม้ อันอ่อนช้อย ผนังด้านนอก-ด้านใน ตกแต่งด้วย“พอกคำ”หรืองานลงรักปิดทอง ส่วนผนังสิมด้านหลัง(ด้านนอก) ประดับลาย“ดอกดวง”หรือลายกระจกสี ทำเป็นรูป“ต้นทอง”อันเป็นที่มาของชื่อเมือง

-หอพระ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังสิม มี 2 หอด้วยกัน คือ หอพระม่าน กับหอพระพุทธไสยาสน์ ทั้ง 2 หอโดดเด่นไปด้วยลวดลายประดับดอกดวง เรื่องราววิถีชีวิตและนิทานพื้นบ้านของลาว ในวิธีการตกแต่งอันเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ดูแล้วทรงเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง
บานประตูหน้าโรงเมี้ยนโกศ ภาพสีดาลุยไฟ ฝีมือยอดช่าง “เพียตัน”
-โรงเมี้ยนโกศหรือโรงราชรถ ภายในเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ส่วนประตูและหน้าต่างด้านนอกงดงามมีชีวิตชีวาไปด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีเหลืองอร่ามเรืองรอง ฝีมือของ“เพียตัน”(พระยาตัน)หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว ไม่ว่าจะเป็น ภาพสีดาลุยไฟที่พลิ้วไหวทรงพลังที่บานประตู ภาพทศกัณฑ์ฝันว่ากำลังเสพสังวาสกับสาวงามก่อนตายที่บานหน้าต่างบานแรก(ด้านซ้าย) และ ฯลฯ “ตะลอนเที่ยว” เมื่อได้ชมภาพสลักฝีมือเพียตันแล้ว รู้สึกเหมือนกับว่าท่านไม่ได้ใช้มือแกะ หากแต่ใช้“ใจ“บรรจงควักไม้เหล่านั้นออกมา
พระธาตุหมากโม วัดวิชุน
นอกจากวัดเชียงทองแล้ว ในตัวเมืองเก่ายังมีวัดน่าสนใจอีกหลายวัด ไม่ว่าจะเป็น “วัดวิชุนราช”หรือ “วัดวิชุน” ที่โดดเด่นไปด้วย”พระธาตุหมากโม”ที่แตกต่างจากพระธาตุทั่วไปเป็นรูปทรงแตกโมผ่าครึ่ง,”วัดแสนสุขาราม” ที่ประดิษฐาน “พระเจ้า 18 ศอก”ที่มีความสูง 18 ศอก พระพุทธรูปยืนหนึ่งเดียวประจำเมืองนี้,“วัดอาฮาม” ที่เก็บรักษาชุดปู่เยอ ย่าเยอ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลาวเคารพนับถือเพราะเชื่อว่าเป็นเทวดารักษาเมือง และ“วัดใหม่สุวันนะพูมาราม” หรือ“วัดใหม่” ที่ผนังสิมด้านนอกงดงามไปด้วยภาพฝีมือการสลักไม้ลงรักปิดทองฝีมือของสุดยอดช่าง“เพียตัน”

อย่างไรก็ดีด้วยสภาพการณ์การท่องเที่ยวที่โตวันโตคืน ทำให้หลายๆวัดในหลวงพระบางเดี๋ยวนี้เก็บเงินค่าเข้าชมเพื่อบำรุงรักษาวัด ตามวัดเชียงทองที่ดำเนินการเก็บเงินค่าเข้าชมมาช้านานแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่จะเข้าไปเที่ยววัดต่างๆ ควรดูให้ดีอย่าทะเร่อทะร่าเข้าไป เพราะคิดว่าสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ฟรี

และนี่ก็คือบางส่วนของเมืองหลวงพระบางยุคใหม่ ที่เดินหน้าเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจจะไม่ถูกจริต ไม่สบอารมณ์ใครหลายๆคน แต่นี่คือโลกของความเป็นจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ด้วยประการทั้งปวง
*****************************************

ผู้ที่ต้องการล่องเรือจากเชียงของ(จ.เชียงราย)สู่หลวงพระบาง แบบสะดวกสบาย ช่วงนี้“เรือหลวงทราย”มีโปรโมชั่นแพ็คเกจล่องเรือพร้อมที่พักหรู ผู้สนใจสอบถามได้ที่ 0-2689-0425 หรือดูที่ www.mekong-cruises.com
กำลังโหลดความคิดเห็น