xs
xsm
sm
md
lg

เบิ่งเมืองลาว เที่ยวรายทาง จาก "น่าน" สู่ “หลวงพระบาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่าเรือปากห้วยแคน มุ่งหน้าสู่หลวงพระบาง
“สะบายดี” ที่ไม่ใช่ประโยคคำถาม แต่คือประโยคทักทายของชาวลาว บ้านพี่เมืองน้องของเรา ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” ต้องเตรียมตัวพูดคำนี้สำหรับทักทายผู้คนระหว่างเดินทางเที่ยวท่องไปในประเทศลาว หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในครั้งนี้

แม้ว่าลาวจะมีเส้นทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ด้วยระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด คราวนี้จึงขอแวะเที่ยวในเส้นทาง “น่าน-หลวงพระบาง-วังเวียง-เวียงจันทน์” โดยเราเริ่มต้นการเดินทางออกจากประเทศไทย ที่ด่านพรมแดนบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน จากนั้นก็เข้ามาสู่เขตประเทศลาวที่ด่านเมืองเงิน แขวงไชยบุรี
ล่องเรือตามลำน้ำโขง
จากที่ด่านเมืองเงินนั้น เดินทางต่อไปยังท่าเรือปากห้วยแคน ซึ่งมีระยะทางจากด่านห้วยโก๋นประมาณ 45 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางเป็นถนนลาดยางวิ่งได้สะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนมาก สองข้างทางก็มีทั้งบ้านเรือน ไร่นา และป่าไม้ให้ได้ชมธรรมชาติกันไปพลางๆ ไม่นานนักก็ถึงท่าเรือปากห้วยแคน จุดที่จะต้องลงเรือล่องไปตามลำน้ำโขงกัน

ที่ท่าเรือปากห้วยแคน หากล่องเรือไปขึ้นที่หลวงพระบางนั้น จะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง โดยในเรือ (ที่เขาว่าเป็นเรือ VIP สำหรับนักท่องเที่ยว) นั้น มีที่นั่งให้สะดวกสบาย สำหรับเราเมื่อเรือเริ่มแล่นไปเรื่อยๆ นั้น ก็ได้ชื่นชมกับความงามทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง มีทิวทัศน์ที่แปลกตากว่าบ้านเรา อีกทั้งต้นไม้ป่าเขาก็ยังเขียวชอุ่ม ที่ริมตลิ่งบางแห่งก็มีชาวบ้านมาปลูกถั่วลิสงไว้เป็นทิวแถว บางที่ก็เห็นฝูงวัวฝูงควายมาเดินเล่นอยู่ริมน้ำ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบที่หาได้ยากแล้วในเมืองไทย
ที่จอดเรือขึ้นไปเยี่ยมชมถ้ำติ่ง
ชื่นชมธรรมชาติจนอิ่มหนำ ก็หลับๆ ตื่นๆ อีกสักพัก ก็ได้เวลาแวะเที่ยวระหว่างทางที่ ถ้ำติ่ง จุดนี้เป็นจุดยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวหากมาล่องแม่น้ำโขงบริเวณนี้จะต้องแวะเวียนขึ้นไป แต่เดิมมีความสำคัญในเรื่องการเป็นสถานที่สักการบูชา หรือบวงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน เทวดาผาติ่ง และเมื่อความเชื่อเรื่องการนับถือผีเปลี่ยนไปเป็นการนับถือศาสนาพุทธ กษัตริย์ก็ได้ใช้ถ้ำติ่งแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ทำให้ในทุกวันนี้เราได้เห็นพระพุทธรูปหลายปาง หลายขนาด หลายพันองค์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะถูกทำขึ้นจากไม้ หรือบางส่วนที่ทำขึ้นจากเงินและทองก็มีบ้าง แต่ถูกลอกออกไปหมดแล้ว

เดินขึ้นถ้ำติ่งพอเหงื่อเริ่มซึม ก็นั่งรับลมเย็นๆ ด้านบนแล้วก็เดินลงมานั่งเรือต่อไปยังหลวงพระบาง ระหว่างทางนอกจากป่าไม้จะยังเขียวชอุ่มอยู่เช่นเดิม ก็ยังมีความแปลกตาของภูเขาหินปูนที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันไป

พอมาถึงท่าเรือที่หลวงพระบางแล้ว ก็เก็บกระเป๋าขึ้นฝั่ง นั่งรถสกายแลปเข้าเมือง เนื่องด้วยหลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก จึงไม่อนุญาตให้รถใหญ่ หรือรถบัสเข้าไปวิ่งในเขตเมือง ต้องจอดรออยู่ด้านนอก การเดินทางภายในเมืองจึงต้องใช้รถสกายแลปแบบนี้เที่ยวไปให้รอบ
ภายในถ้ำติ่ง มีพระพุทธรูปมากมาย
หลวงพระบาง นับเป็นเมืองในฝันของนักท่องเที่ยวหลายคน เพราะนอกจากจะโด่งดังจากความเป็นเมืองมรดกโลกที่ถูกอนุรักษ์ไว้แล้ว สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็มีอยู่มากมาย อีกทั้งวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบางก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ความรู้สึกของเราเมื่อไปถึงจึงเหมือนย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนในเมืองไทย ที่ผู้คนยังมีวิถีแบบเรียบง่าย ไม่เร่งร้อนเหมือนทุกวันนี้

มาถึงหลวงพระบางก็เย็นย่ำเต็มที แวะเติมความอิ่มให้กระเพาะ แล้วออกเดินย่อยอาหารกันที่ ตลาดมืด หรือถนนคนเดินยามค่ำคืนของเมืองหลวงพระบาง ที่ตั้งอยู่บนถนนศรีสว่างวงศ์ แม้ว่าสินค้าที่มีวางขายจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็ชวนให้เลือกซื้อหาไปฝากเพื่อนฝูง แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะแม่ค้าที่นี่พูดคุยภาษาไทยได้ แถมยังต่อราคาได้โดยไม่มีเสียอารมณ์
ตลาดมืด เดินเลือกซื้อของได้ตามสะดวก
รุ่งเช้า เอาฤกษ์เอาชัยด้วยความเป็นสิริมงคลกับการ ตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นธรรมเนียมของคนที่มาหลวงพระบาง และกลายไปเป็นการตักบาตรเชิงพาณิชย์สำหรับนักท่องเที่ยวไปเสียแล้ว แต่ก็ยังนับว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นและจับต้องได้

เมื่อได้เวลาฟ้าสาง ชาวเราก็มานั่งเรียงรายกันเป็นทิวแถว พร้อมข้าวเหนียวในกระติ๊บ และผ้าพาดไหล่นั่งรออยู่ริมทาง รอฟังเสียงจากกะลอ (เป็นเครื่องเคาะของลาว มีลักษณะคล้ายกลอง) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าพระเณรจะเริ่มออกบิณฑบาตแล้ว และเมื่อสิ้นเสียงสัญญาณ พระภิกษุ สามเณร จากวัดต่างๆ นับหลายร้อยรูปก็จะเดินบิณฑบาตเป็นแถวยาว ส่วนสิ่งที่ใช้ใส่บาตรนั้นก็มีเพียงข้าวเหนียวอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะสงสัยกันว่า แล้วพระเณรจะฉันกับข้าวที่ไหน คำตอบคือ เมื่อถึงเวลาฉัน ชาวบ้านที่เป็นโยมอุปัฏฐากของวัดนั้นๆ ก็จะนำอาหารคาวหวานไปถวายที่วัด
ตักบาตรข้าวเหนียวในยามเช้า
ตามความเชื่อถือของ “ตะลอนเที่ยว” หากว่ามาถึงบ้านเมืองไหน ก็ต้องไปดูตลาดเช้าของเมืองนั้น จะได้รู้จักความเป็นอยู่ของผู้คน อาหารการกินในถิ่นนั้น จึงต้องขอแวะเข้าไปที่ ตลาดเช้าหลวงพระบาง จะเดินดูหรือเลือกซื้อสินค้าหลากหลายชนิด ที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารการกินทั้งสดทั้งแห้ง ที่พลาดไม่ได้ก็คือการลิ้มลองกาแฟลาวรสเข้ม พร้อมกับปาท่องโก๋ตัวโตให้อิ่มหนำ เติมพลังก่อนจะไปตระเวนเที่ยวให้ทั่วเมือง

หนึ่งในสัญลักษณ์ของหลวงพระบางก็คือ วัดเชียงทอง ที่ได้รับการยกย่องจากนักโบราณคดีว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว วัดเชียงทองสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2102-2103 สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองล้านนาและล้านช้าง ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่นครเวียงจันทน์
ตลาดเช้า นานาของกินที่น่าชิม
สิม หรือ พระอุโบสถของวัดเชียงทองนั้นถือว่าเป็นศิลปะแบบหลวงพระบางแท้ๆ สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน และมีโครงสร้างที่ไม่สูงมากนัก มีหลังคาแอ่นโค้ง ลาดต่ำลงมาซ้อนกันอยู่สามชั้น น่าเสียดายที่หากไปในช่วงนี้อาจไม่ได้เห็นความงดงามด้านหน้าสิมเท่าใดนัก เนื่องจากกำลังมีการบูรณะอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของสิม แต่ก็ยังสามารถเข้าไปสักการพระประธานที่อยู่ภายในได้ ซึ่งพระประธานภายในสิมนั้น ชาวลาวเรียกกันว่า พระองค์หลวง
พระองค์หลวง ภายในสิมของวัดเชียงทอง
หากมองที่ด้านหน้า ด้านข้าง หรือแม้แต่ด้านในของสิมก็จะเห็นความงดงามด้วยลวดลายลงรักปิดทอง แต่หากว่าเดินไปดูที่ด้านหลังสิม ก็จะเห็นความงามที่แตกต่างเพราะตกแต่งด้วยกระจกสีตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาต่อกันเป็นรูปต้นทอง ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมเรื่องการสร้างเมืองเชียงดง-เชียงทอง ด้านบนต้นทองเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันมาก
ด้านหลังสิมตกแต่งด้วยกระจกสีดูงามตา
ที่ด้านข้าง และด้านหลังของสิม ก็จะมีวิหารหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ มีความสวยงามที่โดดเด่นแปลกตาจากการประดับประดากระจกสีบนผนังสีชมพู วิหารด้านข้างมีชื่อว่า วิหารแดง ที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อยู่ภายใน ส่วนวิหารทางด้านหลังสิมมีชื่อว่า วิหารพระม่าน ภายในประดิษฐานพระม่าน ที่จะต้องขึ้นบันไดไปแอบดูตรงช่องเล็กๆ ที่ประดูด้านหน้า เพราะในหนึ่งปีนั้น วิหารพระม่านจะเปิดให้เข้าไปสักการะพระม่านในวันสงกรานต์เพียงวันเดียวเท่านั้น
โรงเมี้ยนโกศ
ส่วนด้านตรงข้ามของสิม จะเห็นว่ามี โรงเมี้ยนโกศ หรือ โรงเก็บราชรถพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา สีทองอร่ามสะท้อนกับแสงแดด ราชรถไม้ที่เก็บไว้ด้านในนั้นแกะสลักขึ้นจากไม้และปิดทองคำเปลวรอบคัน มีพระโกศสามองค์ตรงกลางเป็นองค์ใหญ่ของเจ้าสว่างศรีวัฒนา ด้านหลังเป็นของพระราชมารดา ส่วนด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา
พระธาตุพูสี
นอกจากวัดเชียงทองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นับว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางก็คือ พระธาตุพูสี ซึ่งตั้งอยู่บนยอดพูสี กลางเมืองหลวงพระบาง ซึ่งไม่ว่าจะอยู่มุมใดในเมืองหลวงพระบางก็จะมองเห็นพระธาตุพูสีสีทองอร่ามอยู่บนยอดพูสี

วิธีการขึ้นไปสักการะพระธาตุก็ไม่ยาก เพราะทางขึ้นไปมีเพียงสองทาง คือ ทางด้านหน้าตรงข้ามกับพระราชวัง และทางด้านหลังใกล้กับแม่น้ำคาน ซึ่งเราขอเลือกทางแรก เดินนับหนึ่งไปจนถึงสามร้อยยี่สิบแปดขั้น ก็ขึ้นไปถึงด้านบนพอดิบพอดี
ทิวทัศน์รอบเมืองหลวงพระบาง
ที่บนยอดพูสี นอกจากจะไปสักการะพระธาตุพูสีแล้ว ด้านหลังก็ยังมีสิมขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านมักนำกรวยดอกไม้และธูปเทียนมากราบไหว้พระพุทธรูป และบริเวณรอบๆ ยอดพูสี ก็ยังเป็นจุดชมวิวรอบๆ เมืองหลวงพระบางได้ด้วย อย่างที่ด้านหนึ่งนั้นก็จะเห็นถนนสายหลักของเมืองหลวงพระบาง พร้อมๆ กับแม่น้ำคาน
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง
เดินขึ้นแล้วก็เดินลงจากยอดพูสีแล้ว ก็ข้ามฝั่งถนนมายัง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ซึ่งแต่ก่อนเก่านั้นคือวังของเจ้ามหาชีวิต แต่ในภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลลาวได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุและสิ่งของมีค่าต่างๆ ทั้ง บัลลังก์ ธรรมาสน์ พระพุทธรูปโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ และของขวัญจากต่างประเทศ
พระธาตุหมากโม
สถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์เป็นสไตล์ยุโรปผสมล้านช้าง ด้านในก็ตกแต่งแบบเรียบง่าย เต็มไปด้วยข้าวของที่ล้วนแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าด้านในพิพิธภัณฑ์จะไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป แต่เรื่องราวและความงดงามต่างๆ เราก็สามารถเก็บเกี่ยวออกมาเล่าสู่กันฟังได้ นอกจากจะเข้าไปด้านในแล้ว ที่ปีกด้านขวาของพิพิธภัณฑ์ ยังเป็นสถานที่สำคัญ เนื่องจากมี พระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางประดิษฐานอยู่ ให้ไปสักการะได้
พระวิชุนราช ภายในสิมวัดวิชุนราช
วัดวิชุนราช เป็นจุดหมายต่อไปของเราในหลวงพระบาง มากที่วัดนี้ ความโดดเด่นที่แลเห็นได้ตั้งแต่หน้าวัดคือ พระเจดีย์พระปทุม หรือที่ชาวหลวงพระบางเรียกว่า พระธาตุหมากโม เหตุด้วยพระธาตุนี้มีรูปร่างลักษณะคล้ายลูกแตงโมผ่าครึ่ง

ด้านตรงข้ามกับพระธาตุจะเป็นสิม ซึ่งภายในประดิษฐานพระวิชุนราช พระประธานหรือพระองค์หลวงของวัด กราบสักการะเรียบร้อยแล้วสามารถเดินชมรอบๆ องค์พระได้ เพราะมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจำนวนมาก อย่างเช่น พระพิมพ์แกะสลักจากไม้ พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปไม้แกะสลัก
พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีจำลอง ด้านข้างพระวิชุนราช
หลังจากเที่ยวภายในเมืองหลวงพระบางแล้ว ขอออกนอกเมืองไปเที่ยวชมธรรมชาติกันบ้าง เราเปลี่ยนจากรถสกายแลปมาเป็นรสบัสคันเล็กมุ่งหน้าไปยัง น้ำตกตาดกวางสี น้ำตกที่มีชื่อเสียงที่สุดของหลวงพระบาง เป็นน้ำตกหินปูนที่ทิ้งตัวจากหน้าผาสูงกว่า 70 เมตร แม้ว่าจะมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่เราไปถึงนั้นดูจะมีน้ำน้อยไปเสียหน่อย
น้ำตกตาดกวางสี
เดินจากลานจอดรถเข้าไปอีกประมาณ 300 เมตร จึงจะพบน้ำตก แต่ระหว่างทางนั้นมีต้นไม้ใบหญ้านานาพรรณ สร้างความเย็นชุ่มชื้นให้ช่วงที่เดินขึ้นไป และยังมีศูนย์อนุรักษ์หมีควาย ที่มีหมีควายนอนเล่นอยู่ในกรงกว้างใหญ่ให้ได้ชี้ชวนชม เดินมาเรื่อยๆ ยังไม่ทันเหนื่อยก็มาถึงจุดยอดนิยมในการถ่ายรูปกับน้ำตกที่ไหลจากผาสูง มาสู่แอ่งด้านล่าง หากใครอยากลงเล่นน้ำเย็นๆ ก็สามารถเล่นได้เป็นจุดๆ ที่อนุญาตไว้เท่านั้น โดยจะมีป้ายเตือนปักไว้ให้เห็น

เล่นน้ำตกมาเหนื่อยๆ ขอนอนพักเอาแรงในหลวงพระบางอีกสักคืน จุดหมายวันต่อไปของเราคือเส้นทางวังเวียงสู่เวียงจันทน์ (ติดตามต่อตอนหน้า คลิกที่นี่)

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

คลิกอ่าน "จาก “วังเวียง” สู่ “เวียงจันทน์” บนเส้นทางสาย 13 เหนือ" (ตอนที่ 2) ได้ที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น