xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชนบทจูบปาก “ประดิษฐ” เลิกค้าน P4P

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการหารือ 3 ฝ่ายเรื่อง P4P ที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก จน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ต้องออกมาหารือกันนอกโต๊ะกลม สุดท้ายตกลงกันได้เดินหน้า P4P ต่อ
“สุรนันทน์” เอาอยู่! สงบศึกกระทรวงหมอ กล่อมแพทย์ชนบทยอมรับ P4P หลังเจรจา 3 ฝ่ายเห็นร่วมให้ตั้งคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์ P4P ให้สอดคล้องกับบริบท ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบย้อนหลังตั้งแต่ 1 เม.ย.คาดเสร็จใน 2 เดือน “หมอเกรียง” ชี้เยียวยาต้องใช้ฉบับ 4, 6 ขู่รัฐบาลหักหลังก่อม็อบอีก ระบุยังยื่นเหตุผลปลด “หมอประดิษฐ” แต่อยู่ที่นายกฯพิจารณา



วันนี้ (6 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลคือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และฝ่ายเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ คือ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยฝ่าย สธ.และเครือข่ายฯ ส่งตัวแทนเข้าร่วมเจรจาฝ่ายละ 15 คน เพื่อหาข้อยุติปัญหานโยบายสาธารณสุข

ทั้งนี้ นายสุรนันท์ ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายฯ เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้นำพระพุทธรูปปางมารวิชัย มาวางไว้ด้านหน้าโต๊ะกลม พร้อมกล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกฯ เปลี่ยน รมว.สาธารณสุข เพราะตั้งแต่ นพ.ประดิษฐ ดำรงตำแหน่งก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากไม่มีความสามารถ ขาดประสบการณ์ บริหารแบบบริษัทส่วนตัว สั่งการตามอำเภอใจ เช่น บังคับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทำ P4P บังคับข้าราชการเหมือนพนักงานบริษัทจนเกิดแรงต่อต้าน ใช้ P4P นับแต้มแต่ไม่สามารถวัดประสิทธิภาพการทำงานได้ และไม่มีการศึกษาผลดีผลเสีย ที่สำคัญแม้มีแรงต้านก็ยังเดินหน้าต่อ ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาไม่มีใครได้อะไรเลย ทั้งที่หลักการ P4P ต้องส่งผลแบบได้ประโยชนทุกฝ่าย ส่วนการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจาก ผอ.อภ.ถือว่าขาดธรรมาภิบาล

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการทำ P4P เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ แต่ต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.เป็นการจ่ายแบบเพิ่มจากค่าตอบแทนปกติ 2.ต้องพิจารณาจัดแบ่งพื้นที่ รพช.ใหม่ และ 3.ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ทั้งหมด ซึ่งเห็นด้วยกับการที่ให้สหวิชาชีพได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยจะต้องใช้วิธีการพิจารณาโดยใช้ปัจจัยทั้งหมด ไม่ใช่วัดเฉพาะพื้นที่เหมือนเดิม

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเห็นด้วยว่าเป็นการลดช่องว่างระหว่างค่าตอบแทนรัฐและเอกชน จูงใจให้แพทย์อยู่ในชนบท แต่ที่ผ่านมาไม่มีการวัดคุณภาพและประสิทธิภาพ จึงต้องมีการใช้ P4P ผสมผสาน ซึ่ง P4P ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการประเมินผล ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การปฏิบัติพร้อมที่จะให้มีการปรับปรุง และหวังว่าทุกฝ่ายจะคงหลักการนี้ไว้

ที่มีการต่อต้านผมกล่าวหาว่าประดิษฐทรยศ ผมขอบอกว่าผมอาจมีรากเหง้ามาจากภาคธุรกิจ ถ้าผมทรยศก็ทรยศรากเหง้าของตัวเอง เพราะเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน จากนี้คำพูดและการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ผม ซึ่งยินดีรับการพิสูจน์” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้แจงประเด็นข้อเสนอต่างๆ มีการถกเถียงเรื่อง P4P อย่างมาก กระทั่ง นพ.ประดิษฐ และ นพ.เกรียงศักดิ์ ต้องออกมาหารือกันนอกโต๊ะกลม กระทั่งเวลา 14.30 น.จึงได้ข้อสรุปที่เจรจากันยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง โดยนายสุรนันทน์ กล่าวว่า ข้อสรุปเบื้องต้น นพ.ประดิษฐ จะรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า จากการหารือทุกฝ่ายเห็นด้วยว่า P4P ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการของประชาชน และมีความจำเป็นที่จะต้องตรึงบุคลากรไว้ในพื้นที่ชนบท โดยใช้มาตรการเรื่องเงิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคลากรแต่ละวิชาชีพ ทั้งนี้ การทำ P4P ต้องเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่และระดับหน่วยบริการ จึงต้องมีกติกากลางให้กับหน่วยงานเพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม ส่วนหลักเกณฑ์รายละเอียดปลีกย่อยต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการ โดยให้จัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีตัวแทนจากทุกวิชาชีพเข้ามาร่วมทำงาน ทำหน้าที่ 2 เรื่องหลัก คือ 1.ปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่ และ 2.คิดมาตรการเยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการทำ P4P หรือไม่ได้ทำ P4P เพราะมีสาเหตุจากความไม่พร้อมจากการที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนได้ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.ที่ระบุให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่จะไม่ครอบคลุมบุคลากรที่ต่อต้านการทำ P4P ทั้งนี้ การเยียวยาจะย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1 ต.ค.โดยเป็นลักษณะของการชดเชยส่วนต่างค่าตอบแทนเมื่อเทียบระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเดิมกับการจ่ายแบบ P4P คาดว่าคณะทำงานจะใช้เวลาดำเนินการ 2 เดือน โดยตนจะนำรายละเอียดของการหารือร่วมกันรายงานต่อ ครม.ในการประชุม ครม.สัญจรที่จะถึงนี้ สำหรับกลุ่มแพทย์ชนบทเข้าใจตรงกันว่า คัดค้านเพราะความไม่พร้อมของหน่วยบริการ ไม่ใช่การต่อต้าน

“ระหว่างที่คณะทำงานชุดนี้ทำงาน สถานพยาบาลใดพร้อมทำ P4P ก็เดินหน้าไปตามปกติ หากไม่พร้อมก็ส่งรายละเอียดมายังกระทรวงว่าไม่พร้อมเพราะอะไร กระทรวงจะได้เข้าไปช่วยเหลือ หลังจากนั้นเมื่อคณะทำงานกำหนดกฎระเบียบเสร็จ เชื่อว่าวันที่ 1 ต.ค.จะมีการทำ P4P ในทุกสถานพยาบาลในสังกัด จะไม่มีข้อข้องใจว่าไม่พร้อมหรือหลักเกณฑ์ไม่เหมาะสมอีก เพราะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละสถานพยาบาล” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมพอใจกับการหารือ ถือเป็นชัยชนะของคนไทยไม่ใช่แค่กลุ่มแพทย์ชนบท เพราะถือว่าทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพที่ดี มีแพทย์ทำงานในชนบท แต่หลังจากนี้จะขอรอดูรายละเอียดที่ รมว.สาธารณสุข จะเสนอต่อ ครม.อีกที หากไม่เป็นไปตามข้อตกลงก็จะมีการชุมนุม แต่หากรัฐบาลจริงใจทำตามข้อเรียกร้องทุกด้านก็จะไม่มีการเคลื่อนไหว สำหรับรายชื่อคณะทำงานจะเสนอตัวแทนจากเครือข่ายฯ ประกอบด้วย สหภาพฯ อภ.เครือข่ายผู้ป่วย กลุ่มคนรักหลักประกันฯ และชมรมแพทย์ชนบท ทั้งนี้ จากการหารือ นพ.ประดิษฐ เข้าใจแล้วว่า รพช.ไม่พร้อมทำ P4P ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่จะสร้างกติกาให้โรงพยาบาลทั้งหมดอยากทำ P4P แบบสมัครใจ ซึ่งจะเป็นงานต่อจากนี้ที่คณะทำงานจะดำเนินการร่วมกัน

มาตรการเยียวยาต้องใช้ตามประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 จึงจะยอมรับได้ โดยจะต้องจัดทำเป็นประกาศฉบับใหม่ เพื่อกำหนดให้ระหว่างการดำเนินงานของคณะทำงานใช้การจ่ายค่าตอบแทนฉบับ 4 และ 6 ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งยังยืนยันข้อเรียกร้องเดิม โดยได้มอบเอกสารเหตุผลให้นายสุรนันทน์ เสนอนายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อพิจารณา” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น