คืบหน้ากรณีที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ.323/2556 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามนัยมาตรา 82(2) ประกอบมาตรา 85(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 โดยมี นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) เป็นประธาน ซึ่งในหนังสือได้ระบุด้วยหากผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งนี้ และประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งนี้ ให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งนี้ โดยให้อุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) นั้น
วันนี้ (22 พ.ค.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายชินภัทร กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือคำสั่งแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว แล้ววันนี้ (22 พ.ค.) และกำลังตรวจสอบกรรมการคนอื่นๆ ว่าได้รับคำสั่งกันครบถ้วนหรือยัง โดยคาดว่าจะเรียกประชุมนัดแรกได้ในวันที่ 27 หรือ 28 พ.ค.นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกสอบสวนเป็นข้าราชการระดับสูง จึงสามารถชี้แจงเป็นเอกสาร พร้อมกับพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา มาที่คณะกรรมการ หรือจะมาชี้แจงกับคณะกรรมการด้วยตนเองก็ได้ แต่ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าเอกสารที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงมายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ก็จะต้องเชิญให้ผู้กล่าวหามาให้ปากคำเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้อ่านสรุปผลการรายงานของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ชุดที่มีปลัดศธ.เป็นประธาน เบื้องต้น เห็นว่าจะต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมกลับไปยัง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง เนื่องจากเอกสารที่ได้รับมา ยังไม่เพียงพอต่อการกำหนด สว.2 หรือ หนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหาได้ ส่วนกรณีที่จะเสนอให้ผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งไว้ก่อนหรือไม่นั้น คณะ กรรมการสอบสวนวินัยฯ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจในสั่งบรรจุแต่งตั้งตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ และถ้าคณะกรรมการฯมีความเห็นไปในทิศทางใดแล้ว ก็จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา เพื่อเสนอไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณาต่อไป
“การที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานสอบวินัยอย่างร้ายแรงนายชินภัทร ครั้งนี้ ไม่รู้สึกหนักใจ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นงานที่หนักเพราะต้องสอบวินัยร้ายแรงหัวหน้าส่วนราชการ เหมือนกัน แต่เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ก็จะทำหน้าที่ให้ดี ให้เป็นธรรมที่สุด โดยยึดข้อมูลหลักฐานและพยานที่มีอยู่รวมถึงให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาส ชี้แจงด้วย” นายอภิชาติ กล่าว
นายชินภัทร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือเรื่องการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แต่อย่างใด ส่วนที่ตนจะยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตามสิทธิ์หรือไม่นั้น จะต้องรอดูประเด็นที่ทาง คณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ตั้งมาก่อนว่ามีประเด็นใดบ้าง จำเป็นหรือไม่จะต้องใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ หรือหากเป็นเรื่องที่ตนสามารถชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯได้ก็จะรีบรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงทันที อย่างไรก็ตาม ส่วนเหตุผลที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ด้วยเหตุใดๆ ก็ตามขอให้เป็นเรื่องที่ตนจะชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ โดยตรงดีที่สุด เพราะมีรายละเอียดที่หากพูดไปอาจจะเกิดความสับสนได้
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในวันนี้ตนได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 79 เขตที่จะมีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี 2556 ในเดือนมิถุนายนนี้ ว่า สพฐ.มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ชุดเพื่อมาช่วยดูแลการจัดสอบ พร้อมย้ำให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดโดยเฉพาะเรื่องการอนุญาตให้สมัครสอบได้เพียงที่เดียว ซึ่งได้ให้เขตพื้นที่ฯ จัดส่งรายชื่อและเลขประจำตัว 13 หลักของผู้มีสิทธิสอบมายังส่วนกลางโดยมอบให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ของ สพฐ.โดยจะใช้โปรแกรมจำแนกเพื่อดูว่ามีการสมัครสอบซ้ำซ้อนหรือไม่ หากพบก็จะแจ้งไปยังเขตพื้นที่ฯ ได้ดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้เขตพื้นที่ฯทำหนังสือรายงานการเตรียมความพร้อมการจัดสอบ ทั้งเรื่องการทาบทามสถาบันอุดมศึกษาในการออกข้อสอบ จัดส่งข้อสอบ การตรวจกระดาษคำตอบและประมวลผล ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ามีการทาบทามเรียบร้อยเหลือเพียงการทำสัญญา
ด้าน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว 12 กล่าวว่า ขณะนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้มีการสืบข้อเท็จจริงข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องอีก 3 ราย ได้แก่ นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ.นายไกร เกษทัน อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สพฐ.และนายสุเทพ ชิตยวงศ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.เพิ่มเติม ทั้งนี้ แต่เดิมนั้นคณะกรรมการชุดของตนได้เสนอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงทั้ง 4 ราย โดยในส่วนของ รองเลขาธิการ กพฐ. และผู้ช่วยเลขานุการ กพฐ.ได้มีการสรุปว่าคนใดคนหนึ่งกระทำผิด แต่ รมช.ศึกษาธิการ เห็นว่าควรจะต้องกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายชินภัทร คนเดียวก่อนและให้มาสอบสวนทั้ง 3 คนเพิ่มเติม เนื่องจากเกิดความสงสัยเพราะความผิดชอบเท่ากัน ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการต่อไปและจะเร่งดำเนินการสรุปโดยเร็วๆ นี้ เนื่องจากเหลือเวลาอีก 4 เดือนตนจะเกษียณอายุราชการ
“คณะกรรมการชุดดิฉันทำหน้าที่สืบสวนวินัยในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น เพราะฉะนั้นในการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายชินภัทร ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการไม่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนการทุจริต ซึ่งหากจะสอบสวนกรณีทุจริตก็ต้องอาศัยข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กำลังดำเนินการอยู่ซึ่งได้มีสอบและสรุปว่ามีการทุจริตจริง รวมทั้งข้อมูลคือรายละเอียดอื่นๆ ไม่ว่าจะเส้นทางการเงิน การเรียกคืนเงิน เรื่องละเมิด มาพิจารณาซึ่งเป็นเรื่องของคดีอาญา” นางพนิตา กล่าว