มติบอร์ด สทศ.ยกเลิกให้ฟรี 24 คะแนนวิทย์ O-Net ม.6 พร้อมปรับใหม่ตรวจเฉพาะ 67 ข้อ และแปลงคะแนนเต็ม 100 ยันตรวจสอบวิเคราะห์แล้วว่าการกระจายของข้อสอบสามารถวัดผลได้ตามหลักวิชาการ พร้อมตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงให้คนนนอกมาเป็นกรรมการตรวจสอบระบบทั้งหมด ด้าน “สัมพันธ์” ระบุหากต่อไปมีผิดพลาดจะพิจารณาตัวเอง
วันนี้ (15 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ.พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.และ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมบอร์ด สทศ.เกี่ยวกับคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ชั้น ม.6 วิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีปัญหาในชุดสอบที่ 200 ทำให้ก่อนหน้านี้ สทศ.ประกาศให้คะแนนฟรีกับนักเรียนที่เข้าสอบทุกคนๆ ละ 24 คะแนน ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงการได้เปรียบเสียเปรียบและมีเสียงเรียกร้องให้มีการจัดสอบใหม่
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สทศ.เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้พิจารณาโดยยึดหลักการ 6 ข้อ คือ 1.ต้องรักษาความยุติธรรมให้กับทุกคน 2.ไม่ทำให้เด็กเสียประโยชน์ 3.ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการนำคะแนนไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยและการประเมินสถานศึกษา 4.ไม่เป็นภาระหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับนักเรียน 5.การแก้ปัญหาต้องใช้ผลเทียบเคียงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาและการใช้ต่อไปในอนาคต และต้องสะท้อนคุณภาพมาตรฐานของ O-Net ตามหลักการของโอเน็ต 6.ต้องสอดคล้องกับหลักการวัดผล อย่างไรก็ตาม จากหลักการดังกล่าวที่ประชุมได้พิจารณาทางเลือกในการแก้ไขปัญหา 3 ทางเลือก ทางแรกคือ สอบใหม่ทั้่งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็ก 4 แสนคน การประกาศวันสอบต้องประกาศล่วงหน้าพอควร ถ้านักเรียนไม่ได้เข้าสอบแม้แต่คนเดียวจะเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม ทางเลือกที่สองคือ การให้คะแนนฟรี 24 คะแนน ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการเทียบเคียงมาตรฐาน เพราะปีนี้คะแนนโด่งผิดปกติ ซึ่งจะไม่เป็นธรรมกับเด็กอื่นๆ และไม่สามารถบอกถึงมาตรฐานของสถานศึกษา ดังนั้นทางเลือกที่ให้คะแนนฟรี24 คะแนน อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง
และทางเลือกสุดท้าย คือ สทศ.จะตรวจข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์เฉพาะ 67 ข้อ จากทั้งหมด 90 ข้อ แล้วเปลี่ยนแปลงคะแนนเต็มเป็น 100 คะแนน อย่างไรก็ตาม กรรมการทุกคนได้วิเคราะห์ข้อสอบตามหลักวิชาแล้วยืนยันว่า แม้จะตรวจข้อสอบเพียง 67 ข้อ แต่ทั้ง 67 ข้อนั้นมีความกระจายของเนื้อหาทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี ธรณีวิทยา ดาราศาสตร์ ที่ถูกต้องและสามารถวัดผลได้ตามหลักวิชาการได้ และมั่นใจเรื่องความเที่ยงตรงในการวัดและความคงเส้นคงวาหากจะนำผลไปใช้ในการประเมินได้ในอนาคต
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า ดังนั้น บอร์ด สทศ.จึงมีมติเอกฉันท์ว่าจะใช้ทางเลือกนี้เพราะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะสะท้อนตามหลักวิชาการ ความเป็นธรรม ความถูกต้อง ในการตรวจข้อสอบนักเรียนม.6 ทั้งหมด และยกเลิกการให้คะแนน 24 คะแนนคราวก่อน อย่างไรก็ตาม บอร์ด สทศ.จะตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมการทำการตรวจสอบ ทั้งนี้ บอร์ด สทศ.ยังเห็นว่าเพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันรับมือปัญหาต่าง ๆ ในอนาคตก็จะขอข้อเสนอแนะจากกรรมการชุดดังกล่าวในการวางระบบป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก
ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีนักเรียนที่สอบในและได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการการคุมสอบให้ดำเนินการที่อาจจะทำให้เด็กไม่ได้ทำข้อสอบดังกล่าว ก็ได้ประสานและทำหนังสือเป็นทางการแจ้งยังศูนย์สอบให้ส่งเอกสารหลักฐานมา เพื่อดำเนินการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากข้อสอบผิดพลาดประมาณ 50,000 คน ซึ่งหากนักเรียนต้องการสอบใหม่ให้แจ้งความประสงค์และแสดงหลักฐานยืนยันจากศูนย์สอบซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล ซึ่งหากพบว่ามีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าความเสียหายของเด็กที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเด็กที่มีปัญหาดังกล่าวสอบใหม่ร่วมกับเด็กที่สมัครสอบ O-Net ในกรณีเหตุสุดวิสัยที่จะสอบวันที่ 6-7 มีนาคมนี้ โดยไม่ต้องชำระค่าสอบ 100 บาท
“ขณะนี้บอร์ด สทศ.ได้ตั้งคณะกรรมการซึ่งบุคคลภายนอกมาตรวจสอบระบบด้วย ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคม ซึ่งหากการจัดสอบต่อไปยังเกิดปัญหาทางเทคนิคเช่นนี้ขึ้นอีก ผมจะขอแสดงความผิดชอบ” ผอ.สทศ.กล่าว
นายชินภัทร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิด บอร์ด สทศ.เห็นว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติเหตุ เพราะข้อสอบรหัส 200 ส่วนใหญ่ถูกต้อง และระดับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระดับที่รับได้ ดังนั้นการใช้คะแนนโอเน็ตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจบช่วงชั้น ก็ยังจะดำเนินต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สทศ.ได้สรุปจำนวนผู้เข้าสอบทุกการจัดสอบของปีการศึกษา 2554-2555 พบว่า ในปีการศึกษา 2554 ทุกการจัดทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบความถนัดทั่วไป (แกต) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (แพต), โอเน็ต, สอบ 7 วิชาสามัญ, การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (วีเน็ต), การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (ไอเน็ต), การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (เอ็นเน็ต) และสอบครู ไม่พบปัญหาแต่อย่างไร ส่วนในปี 2555 การทดสอบที่มีปัญหา ได้แก่ การสอบแกต/แพต ครั้งที่ 1 วันที่ 6-9 ต.ค.2555 มีจำนวนผู้เข้าสอบ 384,152 คน ปัญหาที่เกิดให้คะแนนฟรีวิชาแพต 3 ความถนัดทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 1 ข้อ เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของทศนิยม, การสอบโอเน็ต ม.3 วันที่ 2-3 ก.พ.2556 จำนวนผู้เข้าสอบ 804,892 คน ปัญหาที่เกิด คือ กระดาษคำตอบวิชาภาษาไทย สลับข้อ 51 และ 52 เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่จัดสอบโดยแบบทดสอบ 6 ชุด และการสอบโอเน็ต ม.6 วันที่ 9-10 ก.พ.2556 ปัญหาที่เกิดคือ แบบทดสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ชุด 200 บางฉบับมีปัญหาการสลับหน้าระหว่างชุด 100 กับ 200