xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.รพ.กรงปินัง ถือหาง สธ.ชู P4P ช่วยเก็บข้อมูลการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.รพ.กรงปินัง หนุน สธ.เดินหน้า P4P ชูการเก็บข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญการทำงาน หลังพบที่ผ่านมาเก็บข้อมูลน้อย ทำโรงพยาบาลขาดเงิน On Top จาก สปสช.รวมกว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งที่ควรจะได้ ย้ำเรื่องเงินไม่ใช่ความสุขของชีวิตแพทย์ แต่คือการทำเพื่อประชาชน ยันแพทย์ลาออกไม่ใช่เพราะ P4P

วันนี้ (23 เม.ย.) นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรงปินัง จ.ยะลา กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขเป็นแบบผสมผสาน ระหว่างค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และการจ่ายตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) จนเป็นสาเหตุให้กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทออกมาคัดค้านต่อเรื่องดังกล่าว เพราะมีการลดค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในบางพื้นที่ ว่า การที่ สธ.ปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ มีเจตนาให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งเกิดการทบทวนวิธีการทำงาน เพื่อให้การดูแลประชาชนมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพมากที่สุด บุคลากรที่รู้สึกว่าทำงานหนักได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับบริบท รวมถึงเรียนความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุขที่กำลังจะหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งมีหัวใจหลักคือ การเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานตามความเป็นจริง

นพ.สมหมาย กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้มีหลายโรงพยาบาลที่ไม่มีการบันทึกข้อมูลการทำงานอย่างสมบูรณ์ ทำให้การเบิกเงินเพิ่มเติม (On Top) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งควรจะได้รับเพิ่มเติมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับหายไปปีละกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งหลักการเก็บข้อมูลตรงนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับการจ่าย P4P ของ สธ. โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2556 เป็นต้นไป โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ใน จ.ยะลา ทั้ง 6 แห่ง จะเริ่มให้บุคลากรเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานของตนเอง ซึ่งผู้บริหารจะนำมาเป็นข้อมูลในการประเมินความดีความชอบ รวมทั้งพิจารณากรณีได้รับเงิน On Top จาก สธ.1% และเป็นข้อมูลแสดงต่อ สปสช.ด้วย

“การเก็บข้อมูลจะช่วยให้ฐานข้อมูลแข็งแรงขึ้น เกิดการแข่งขันในการทำงาน คนไข้ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ศรัทธาก็จะกลับมา และการถูกฟ้องร้องก็จะลดลง ส่วนการล่าแต้มผมคิดว่าเป็นแค่การหาคำตอบให้กับผู้ที่ไม่เข้าใจก็สามารถเอาแต้มมาดูได้ สำหรับเรื่องเงิน On Top บางคนอาจได้เพิ่มเพียง 100-200 บาท แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำ ช่วยกันเก็บข้อมูล ผมเชื่อว่าเงิน On Top จะต้องเข้าสถานพยาบาลของตัวเองเยอะขึ้นแน่นอน” ผอ.รพ.กรงปินัง กล่าว

นพ.สมหมาย กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนเป็นแพทย์ชนบทคนหนึ่งและอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องเงินไม่ใช่ตัวตั้งของความสุขในการทำงาน แต่สิ่งสำคัญคือการได้ทำประโยชน์และดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ และคนไข้รักเรา อย่างตนเคยอยู่ รพ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และย้ายมาอยู่ รพ.กรงปินัง ซึ่งมีการยิงทุกวัน หลายคนอาจคิดว่าตนโง่ที่เลือกมา แต่ในความคิดของตนคือเราได้นำเอาสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเข้าไปดูแลคนในพื้นที่ ลดความร้อนแรงทำให้พื้นที่สงบขึ้น ทุกวันนี้ที่แพทย์ชนบทออกมาคัดค้าน เพราะ สธ.ไม่มีเทคนิคในการสื่อสารทางบวกให้เขาเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น

คุณค่าความเป็นแพทย์นั้น เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ผมเป็นหมอสูติฯ เปิดคลินิกมีรายได้สูง 4 แสนบาทต่อเดือน การย้ายมาอยู่พื้นที่เสี่ยงภัยพูดได้เลยว่า เงินไม่ได้มีความสำคัญ การทำความดีซื้อไม่ได้ด้วยเงิน การที่แพทย์เอาเงินเป็นตัวตั้งศรัทธาจากประชาชนจะกลับมาได้อย่างไร อยากฝากให้ไปทบทวนกัน” ผอ.รพ.กรงปินัง กล่าว

นพ.สมหมาย กล่าวต่อไปว่า กระแสที่ระบุว่าแพทย์ลาออกเพราะ P4P เพื่อไป รพ.เอกชนมากขึ้นนั้นก็ไม่เป็นความจริว เพราะ รพ.เอกชนจะมีการคัดเลือกแพทย์ตามคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งการพิจารณาเฉพาะแพทย์เฉพาะทางชั้นสูง ต้องเก่งทั้งภาษาอังกฤษ ที่สำคัญการทำงานก็ไม่ต่างจาก P4P คือทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เมื่อถูกฟ้องร้องก็ถูกไล่ออก และจะการันตีเงินเดือนแค่ 3 เดือนแรกเท่านั้น หลังจากนั้นต้องหาลูกค้าเลี้ยงตัวเองและองค์กร การลาออกจึงไม่ใช่เพราะ P4P แน่นอน แต่ส่วนใหญ่เพื่อไปเรียนต่อ

ด้าน นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รพ.กาฬสินธุ์เริ่มใช้วิธีการจ่าย P4P ตั้งแต่ต้นปี 2555 ซึ่งการจ่ายดังกล่าวไม่ได้ทำให้รายได้ลดลง แต่กลับได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จะมีแพทย์และทันตแพทย์เท่านั้นที่ได้รับเงินน้อยลงแต่ไม่มาก ส่วนการล่าแต้มคงไม่มีเพราะบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนมีจรรยาบรรณ และตนก็ไม่อยากให้มองเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญ แต่อยากให้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากกว่า สำหรับระยะเริ่มต้นการจ่าย P4P มีปัญหาบ้าง แต่สามารถตกลงกันได้ ส่วนที่บอกว่าแพทย์จะลาออกเพราะการจ่าย P4P จริงๆ แล้วคงมีจำนวนน้อย

“เรื่องที่โรงพยาบาลหลายแห่งออกมาคัดค้านและกังวลว่าจะยุ่งยากหากใช้วิธีจ่ายแบบ P4P ขอยืนยันว่าไม่มีความยุ่งยากหรือเสียเวลาอย่างที่กังวล เนื่องจากการจ่ายจะมีการแบ่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยการจ่ายจะมีการแบ่งคะแนนเป็น 2 แบบ คือคะแนนกิจกรรมและคุณภาพ ซึ่งจะมีบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องใช้การจด เช่น พนักงานขับรถ ส่วนบุคลากรสาธารณสุขกลุ่มอื่นๆ ก็จะมีระบบเทคโนโลยีที่ทางโรงพยาบาลจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจดบันทึกโดยเฉพาะ และระบบดังกล่าวก็มีหลายโรงพยาบาลมาขอไปใช้แล้ว” ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น