หมอชนบทจวก “ประดิษฐ” ปลิ้นปล้อน ทำ P4P มากไม่ได้มากจริงอย่างที่ขายฝัน ชี้วงเงินเป็นแบบปลายปิด ทำให้ตายก็ไม่ได้ เหตุคำนวณวงเงินจากร้อยละ 1 แถมคิดตามค่าน้ำหนักแต่ละวิชาชีพ และต้องเฉลี่ยกันอีก ด้าน ปลัด สธ.สวนคำนวณจากค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ถูกลดด้วย ลั่นได้เท่าเดิมแน่นอน
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ ไม่เคยเรียกร้องให้นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลาออกจากตำแหน่ง เพราะทราบดีว่าไม่มีทางลาออก เนื่องจากยึดติดตำแหน่งอยู่ แต่พวกตนเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี สธ.ใหม่ เพราะคนปัจจุบันไม่มีความชอบธรรม ไม่เข้าใจระบบการทำงานของสาธารณสุข มุ่งเน้นแต่ภาคเอกชน เห็นได้ชัดจากการใช้วิธีการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) ซึ่งไม่เหมาะกับโรงพยาบาลภาครัฐ แต่เหมาะกับภาคเอกชนที่มีเงิน เพราะ P4P โดยหลักหากจะให้บังเกิดผลจริงต้องไม่กำหนดเพดาน แต่ระเบียบของ สธ.กลับกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1 เรียกว่าเป็นแบบปลายปิด ดังนั้น การที่ สธ.ประกาศว่าใครทำงานมากได้ค่าตอบแทนมาก ล้วนเป็นเรื่องโกหก เพราะสุดท้ายทำงานแทบตายก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี
“การเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายนั้น ที่ผ่านมาโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งเริ่มทยอยทำแล้ว ทั้งขึ้นป้ายต่อต้าน สวมชุดดำ ไม่ร่วมสังฆกรรมกับกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนเรื่องล่า 20,000 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อวุฒิสภาขอให้ถอดถอนรัฐมนตรี สธ.และการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รวมถึงร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาฝ่ายกฎหมาย คาดว่าจะดำเนินการได้หลังช่วงสงกรานต์” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การออกมาคัดค้าน P4P เพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมสำหรับแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากการคิดคำนวณค่า P4P ไม่ได้มากเหมือนที่ผู้บริหาร สธ. พร่ำบอก โดยข้อเท็จจริงกลับเป็นการควบคุมวงเงิน เรียกว่าเป็นการคุมวงเงินแบบปิด คือ กำหนดชัดให้วงเงิน P4P อยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งเมื่อคำนวณทุกอย่างแล้ว ผลตอบรับที่ได้ไม่คุ้มค่าเลย ยกตัวอย่าง สมมติเงินเดือนแพทย์อยู่ที่ 100 บาท เมื่อคิดค่า P4P ที่ร้อยละ 1 จะเท่ากับ 1 บาท ส่วนพยาบาลสมมติได้รับเงินเดือน 200 บาท คิด P4P ร้อยละ 1 จะเท่ากับ 2 บาท สรุปเงิน P4P จะอยู่ที่ 3 บาท และให้นำไปคิดคำนวณค่าน้ำหนักของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งแพทย์จะมีค่าน้ำหนักอยู่ที่ 1.00 ส่วนพยาบาลจะอยู่ที่ 0.25 ดังนั้น ต้องนำเงิน P4P 3 บาท มากระจายให้แต่ละวิชาชีพตามค่าน้ำหนัก ซึ่งหากแพทย์มี 2 คน พยาบาลมี 3 คน เงินที่ได้จะต้องมาเฉลี่ยอีก กลายเป็นว่าได้กันไม่ถึงบาทด้วยซ้ำ
นพ.อารักษ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการคำนวณในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดเผยข้อมูลจากโรงพยาบาลภาคอีสานแห่งหนึ่ง มีบุคลากรรวมทั้งหมด 386 คน แบ่งเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ ทั้งสายบริการ เช่น พนักงานช่วยเหลือคนไข้ และสายสนันบสนุน เช่น แม่บ้าน โดยเงินเดือนรวมทั้งหมดทุกคนอยู่ที่ 5,563,938 บาท ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเกณฑ์ระเบียบฉบับที่ 4 ของโรงพยาบาลชุมชนอีก 611,000 บาท และค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตามระเบียบฉบับที่ 6 อีก 279,900 บาท รวมเงินทั้งหมด 6,454,838 บาท และเมื่อคำนวณตามระเบียบวงเงินร้อยละ 1 เพื่อจะได้เป็นค่า P4P นั้น ปรากฏว่าได้เพียง 55,639 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ต้องนำไปแบ่งตามสัดส่วนค่าน้ำหนักของแต่ละวิชาชีพ 386 คน พบว่าคนที่ได้มากสุดได้เพียง 817 บาทต่อเดือน ส่วนต่ำสุดจะได้แค่ 41 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินเพียงเท่านี้ยุติธรรมกับแต่ละวิชาชีพแล้วหรือ ดังนั้น จากนี้ไปพวกเราจะกระจายข้อมูลข้อเท็จจริงตรงนี้ให้สาธารณะทราบ ผ่านสื่อออนไลน์ และผ่านบุคลากรโรงพยาบาลไปสู่ประชาชนให้เข้าใจว่า เพราะอะไรหมอจึงต้องทยอยลาออกกัน
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า การคำนวณค่า P4P ไม่ได้น้อยอย่างที่เข้าใจ อยู่ที่ฐานการคำนวณมากกว่า เพราะข้อเท็จจริง นอกจากจะคำนวณจากเงินเดือน ค่าแรง เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 แล้ว ยังมีเงินอีกก้อนที่ถูกยกมา กล่าวคือ ในระเบียบค่าตอบแทนแบบผสมผสานนั้น จะแบ่งเป็นพื้นที่ทั่วไปที่จะลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ลงส่วนหนึ่ง เงินที่ถูกลดจะถูกนำมารวมกองไว้ และนำมาบวกรวมกับเงินเดือนปกติ และค่าแรงต่างๆ จากนั้นก็จะมาคำนวณตามเกณฑ์ร้อยละ 1 ซึ่งอย่างน้อยก็จะได้รับเงินเท่าเดิมอยู่ดี