xs
xsm
sm
md
lg

“ประดิษฐ” งัดตัวเลขยันหมอไม่ได้ลาออกเพราะ P4P จวกแพทย์ชนบทสร้างกระแส!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” จวกแพทย์ชนบทสร้างกระแสแพทย์ลาออกเพราะ P4P ทำ ปชช.ตกใจไขว้เขว ยันแพทย์ลาออกไปศึกษาต่อหรือเปิดคลินิกเองทุกปีอยู่แล้ว แถมไม่มากกว่าปีก่อนๆ เผยเตรียมเพิ่มตำแหน่งให้แพทย์เรียนจบเฉพาะทางเพิ่ม ปีละ 200-300 ตำแหน่ง รับการไหลกลับ
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกมาให้ข้อมูลการทยอยลาออกของแพทย์ในชนบท เนื่องจากการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทน ว่า การพูดเช่นนี้จะทำให้คนตกใจและไขว้เขว เพราะความจริงแล้วทุกปีมีแพทย์ลาออกเป็นปกติ อย่างข้อมูลที่ผ่านมาในปี 2553 ลาออก 382 คน ปี 2554 ลาออก 389 คน ปี 2555 ลาออก 341 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่ทำงานปีแรกเพื่อใช้ทุน เมื่อใช้ทุนจบก็จะลาออกไปศึกษาต่อ หากจะพูดว่าลาออกเพราะการเปลี่ยนวิธีจ่ายค่าตอบแทนต้องบอกเลยว่า ลาออกกี่เท่า อย่างกรณี จ.ขอนแก่น ที่ระบุว่ามีแพทย์ลาออกมากนั้น ข้อเท็จจริงคือ ในปี 2553 ลาออก 14 คน ปี 2554 ลาออก 15 คน ปี 2555 ลาออก 15 คน และปี 2556 ลาออก 8 คน จะเห็นว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่ลาออกไปศึกษาต่อ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว

นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า ในทำนองเดียวกัน แต่ละปีมีแพทย์ที่ไปศึกษาต่อจนจบและขอไหลกลับเข้าระบบอีก 100 กว่าคน แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาให้ตำแหน่งกับแพทย์จบใหม่มาก ซึ่งในแต่ละปีจะมีแพทย์ ทันตแพทย์ 2,900 กว่าตำแหน่ง ดังนั้น ควรมีตำแหน่งให้กับแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้วย เพราะตอนนี้จะขอตำแหน่งก็ไม่พอ ดังนั้นต่อไปจะต้องมีตำแหน่งให้คนกลุ่มนี้ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการในชุมชนต่างๆ ซึ่งในเรื่องของการหาตำแหน่งมารองรับแพทย์กลุ่มดังกล่าว ขณะนี้ สธ.มีตำแหน่งเกษียน 700-800 ตำแหน่งใน 3 ปี จึงให้ทิศทางว่าขอให้กำหนดโควตาในการรับแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้วย โดยอาจกันไว้ปีละ 200-300 ตำแหน่ง

ที่บอกว่าผมมุ่งสนับสนุนนโยบายเมดิคัล ฮับ หากเป็นจริงผมคงไม่อยากเพิ่มตำแหน่งตรงนี้ และการไปเรียกร้องขึ้นป้ายประท้วงนั้น คงไม่เข้าไปตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของฝ่ายราชการประจำไปตรวจสอบมากกว่า เพราะตามระเบียบราชการถ้าอนุญาตให้ทำลักษณะนี้ได้ ก็ไม่ว่าอะไร ทุกอย่างปล่อยให้เป็นไปตามระเบียบราชการ จากนี้ไปผมจะชี้แจงการปฏิรูปกระทรวงฯ รวมทั้งการปรับปรุงค่าตอบแทนจะส่งผลดีอย่างไรกับประชาชน และจะกำชับให้ผู้บริหารลงพื้นที่มากขึ้น เพื่อไปทำความเข้าใจเรื่องนี้" รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) นั้น พูดมาตลอดว่า เป็นภาระงานร่วมกับภารกิจ เนื่องจากภารกิจจะครอบคลุมการทำงานรอบด้านมากกว่า ทั้งการเยี่ยมคนไข้หรือแม้กระทั่งงานบริหาร โดยเฉพาะการทำ P4P ของฝ่ายบริหาร หลังจากนี้จะมีรายละเอียดว่า P4P ของผู้บริหารเป็นอย่างไร เพื่อความยุติธรรมของทุกวิชาชีพและทุกกลุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น