“หมอเกรียง” นำทีมแพทย์ชนบทฉีกรูป “หมอประดิษฐ” ประกาศชัดไม่เอา P4P! พร้อมชี้แจงแกนนำ รพช.ทุกจังหวัดให้เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้น หวังเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายไปบอกต่อเจ้าหน้าที่และชาวบ้านให้ก่อพฤติกรรมอารยะขัดขืน พร้อมยื่นบอร์ดพรรคเพื่อไทยเด้ง รมว.สธ.เหตุทำนโยบาย 30 บาทเสียหาย ก่อนไปร้องทุกข์ต่อหน้าพระบิดา ที่ รพ.ศิริราช
วันนี้ (9 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทได้จัดประชุม “วิกฤตกำลังคนทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน:ผ่าความจริงวันนี้” นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โดยมีแพทย์ ทันตแพทย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) รวมกันกว่า 400 คน เข้าร่วมประชุม ซึ่งระหว่างการประชุมนั้น นพ.เกรียงศักดิ์ ได้นำทีมกลุ่มแพทย์ชนบทฉีกแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) และรูปภาพ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อแสดงการคัดค้านแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนแบบผสมผสาน ระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และแบบ P4P
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม นพ.เกรียงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้นัดแกนนำ รพช.ในแต่ละจังหวัดมาติดอาวุธทางความรู้ โดยจะชี้ทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน หากมีการนำระบบ P4P มาใช้ และให้แกนนำกลุ่มดังกล่าวไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบดาวกระจาย หากเจ้าหน้าที่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับการใช้ P4P ก็สามารถต่อสู้ได้ในแบบอารยะขัดขืน เช่น ขึ้นป้ายคัดค้าน แต่งชุดดำ ใส่ปลอกแขนสีดำ ติดโบสีดำ และไม่ร่วมสังฆกรรมกับ สธ.เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นต้น
“เราไม่ยอมรับ P4P ซึ่งเปรียบเสมือนยาพิษให้เอามาใช้ในระบบ รพช.เพราะในต่างประเทศแม้จะใช้ระบบนี้ด้วยการวัดผลงานตามคุณภาพก็ยังล้มเหลวและไม่คุ้ม แต่ สธ.กลับเอาเข้ามาใช้ ที่สำคัญยังเป็นการเอามาใช้แบบทดแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทั้งที่ผลการศึกษาของ IHPP ระบุว่าได้ผลดีเพราะเป็นการจ่ายแบบเพิ่มเติม (On Top) เข้าไป” ปธ.ชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากประชุมเสร็จแล้ว ในเวลา 13.00 น.ทางกลุ่มจะเดินทางไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อกรรมการบริหารพรรคให้ปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เพราะเป็นต้นเหตุทำให้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ของพรรคเพื่อไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทยนั้นเสียหาย กลายเป็น 30 บาทรักษาทุกโรคแบบอนาถา เพราะไม่มีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลประชาชน เนื่องจากไหลออกไปยังภาคเอกชนมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) ท่าบ่อ จ.หนองคาย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูก็ลาออก โดยระบุชัดเจนว่ารับไม่ได้กับการลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แล้วนำมาจ่ายแบบ P4P ตรงนี้ก็จะทำให้ไม่มีแพทย์ดูแลผู้พิการ ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือกรณีแพทย์เฉพาะทาง 3 สาขา รพ.บางบัวทองลาออก ดังนั้น นพ.ประดิษฐแสดงความรับผิดชอบ และพรรคเพื่อไทยที่คัดคนนี้มาก็ต้องดำเนินการต่อไป
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วว่า จากนั้นจะเดินทางต่อไปยัง รพ.ศิริราช เพื่อทำการร้องทุกข์และขอพระเมตตาจากพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือสมเด็จพระบิดา โดยจะมีแพทย์ดีเด่นศิริราชเป็นแกนนำในการกล่าวปฏิญญาเพื่อขอกำลังใจให้พระบิดาปกป้องคุ้มครองระบบสวัสดิภาพของประชาชน
“ต่อให้ สธ.ล้มเลิกการใช้ P4P แต่แนวทางการถอดถอน นพ.ประดิษฐ ก็จะดำเนินการต่อไป เพราะขณะนี้ สธ.ไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการรวบอำนาจ ซึ่งเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน หรือการกระจายทรัพยากรระบบบริการ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การเอื้อนโยบายเมดิคัล ฮับ ที่ดำเนินงานผิดพลาดจนแพทย์ลาออกจาก รพช.ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งจากนี้จะไม่ไปร้องอะไรที่หน้าทำเนียบฯอีก เพราะไม่มีประโยชน์ รัฐบาลไม่แยแสความเดือดร้อน ขึงต้องแสดงออกด้วยแนวทางของอารยะขัดขืน” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวและว่า คนที่เดือดร้อนไม่ใช่แพทย์ที่ลาออก แต่เป็นชาวบ้าน มาตรการคือให้แกนนำไปชี้แจงทำความเข้าใจ ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ นพ.ประดิษฐ กำลังดำเนินการก็จะมีลงนามถอดถอน หรือเรียกร้องให้ ส.ส.ในพื้นที่ของตัวเองช่วยดำเนินการ เพราะประชาชนต้องเดือดร้อนจากความล้มเหลวของ 30 บาท เราจะใช้วิธีสะท้อนจากด้านล่างขึ้นด้านบน
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท หนึ่งในแพทย์ที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ศิริราชพยาบาล ปี 2544 กล่าวว่า กระทรวงฯ หลอกลวงประเด็น P4P มาตลอด บอกว่าใครทำงานมากได้รับค่าตอบแทนมาก ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ เพราะจากตัวอย่างของ รพช.ภาคอีสานแห่งหนึ่งชัดเจนว่า เมื่อใช้ P4P โดยมีการถัวเฉลี่ยแล้วทุกวิชาชีพจะได้ไม่เกิน 1,000 บาท ไม่ว่าจะทำงานหนักแทบตายก็จะได้แค่นั้น ยิ่งพยาบาลจะได้รับเงิน P4P 204 บาท แบ่งเป็นด้านปริมาณ 184 บาท ด้านคุณภาพ 20 บาท ขณะที่เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม รวมแล้วจะได้เพียง 81 บาท แบ่งเป็นด้านปริมาณ 73 บาท ด้านคุณภาพ 8 บาท และที่ได้รับเงิน P4P น้อยที่สุด คือ เจ้าพนักงานช่วยเหลือคนไข้จะได้แค่ 41 บาท แบ่งเป็นด้านปริมาณ 37 บาท และด้านคุณภาพ 4 บาท เห็นได้ว่าไม่มีความยุติธรรมเลย แต่กระทรวงไม่เคยพูดข้อเท็จจริงเหล่านี้
“เพื่อนผมอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปก็ไม่เห็นด้วย เพราะรู้ดีว่าไม่ยุติธรรม แต่ไม่กล้าพูดเพราะกลัวกระทรวงฯ ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยหลายคนก็ไม่เห็นด้วย เพราะกระทบกับประชาชน หากหมอลาออก ขณะเดียวกันทางร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรี สธ. ก็เข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะอยู่ในช่วงที่มีการประกาศใช้ระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 ของหมอในชนบท และได้มีการต่อสายให้กำลังใจเสมอว่าเห็นใจ แต่ไม่สามารถช่วยได้ ซึ่งพวกเราทราบดี เพราะตอนนี้อยู่นอกเหนือกรอบงานที่ดูแล” นพ.อารักษ์ กล่าว
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า การคิดคำนวณ P4P อยู่ที่ว่าใช้ฐานอะไร เพราะข้อเท็จจริงต้องคำนวณว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของค่าแรงทั้งหมดรวมเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ค่าตอบแทน ซึ่งจะได้เป็นจำนวนเงิน P4P ขั้นต่ำ แต่หากโรงพยาบาลไหนมีฐานะดีก็สามารถปรับเพิ่มได้ หากไม่ไหวจริงๆ สธ.ก็จะเข้าไปช่วย โดยสามารถของบเพิ่มจากครม.ได้ เนื่องจากเป็นมติครม.แล้ว