xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวินัย” ชี้แผนคุมเงิน สปสช.ของ “หมอประดิษฐ” ไม่ขัดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอวินัย” ย้ำแผนคุมการกระจายเงิน สปสช.ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศของ “หมอประดิษฐ” ไม่ขัดกับกฎหมาย ชี้ สปสช.ยังเป็นผู้ถือเงินและกระจายเองอยู่ แต่คณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะทำให้ทราบรายละเอียดมากยิ่งขึ้น ด้าน “หมอประชุมพร” เชื่อแผนใหม่จะช่วยให้แต่ละโรงพยาบาลได้ประโยชน์มากกว่าเดิม

วันนี้ (18 เม.ย.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกับ สปสช. เพื่อคุมการกระจายงบประมาณให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยให้ผู้ตรวจราชการฯ 12 เขตบริการสุขภาพกำกับดูแล จนมีข้อกังวลถึงการรวบอำนาจ ว่า ตนยังไม่ได้หารือกับ นพ.ประดิษฐ แต่เชื่อว่าไม่มีการรวบอำนาจ เพราะการตั้งคณะทำงานชุดนี้จะเน้นรายละเอียดการกระจายเงินอย่างเหมาะสมของแต่ละพื้นที่มากกว่า ซึ่งจากเดิมการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลต่างๆ สปสช.จะดูแล 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นหน่วยบริการในสังกัด สธ.ทั้งหมดร้อยละ 75 ส่วนอีกร้อยละ 25 เป็นโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน โดยวิธีการจัดสรรเงินจะเป็นไปตามกติกาการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยงบเหมาจ่ายรายหัวจะกำหนดตายตัวว่าได้จำนวนเท่าใด เช่น งบประมาณปี 2556 ได้รับหัวละ 2,755.60 บาทต่อคน แต่จะต้องมีการเกลี่ยตัวเลขตามกรอบบริการต่างๆ แบ่งเป็นงบผู้ป่วยนอกทั่วไปหัวละ 983.49 บาทต่อคน บริการผู้ป่วยในทั่วไปหัวละ 975.85 บาทต่อคน เป็นต้น ซึ่งในรายละเอียดก็จะมีทีมทำงานร่วมระหว่าง สปสช.และ สธ.ในการพิจารณาตัวเลขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.วินัย กล่าวอีกว่า คณะทำงานชุดใหม่ที่ นพ.ประดิษฐ เตรียมตั้ง ก็น่าจะไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่จะทำในภาพใหญ่และมีรายละเอียดมากขึ้น จากเดิมส่วนกลางคือ บอร์ด สปสช.ก่อนจะมีมติใดๆ ก็จะพิจารณาตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังอยู่แล้ว ขณะนี้คณะทำงานชุดใหม่ก็จะมีคณะอนุกรรมการฯชุดเดิมเข้าไปทำงาน สุดท้ายเมื่อมีความคิดเห็นใดๆ ก็ต้องเสนอผ่านบอร์ด สปสช.พิจารณาอยู่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ให้ สปสช.จ่ายเงินโดยตรงกับโรงพยาบาลอย่างเดียวหรือไม่ เพราะรูปแบบใหม่เหมือนให้ผ่านเขตบริการสุขภาพ นพ.วินัย กล่าวว่า ไม่ขัด เพราะเข้าใจว่า การดึงเขตบริการสุขภาพเข้าร่วม เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็นผ่านคณะทำงานชุดใหม่มากกว่า ซึ่งน่าจะทำให้ทราบรายละเอียดมากขึ้นว่า โรงพยาบาลระดับไหนมีปัญหาทางการเงินอย่างไร คงไม่ใช่ว่าจะต้องไปเปิดบัญชีผ่านเขตบริการสุขภาพ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่ใช่ เนื่องจากท้ายที่สุด สปสช.ก็เป็นผู้ถือเงิน และกระจายให้โรงพยาบาลทุกระดับอยู่ดี

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า เห็นด้วยหากมีการตั้งคณะทำงานที่มีการบริหารจัดการงบให้โรงพยาบาลอย่างเท่าเทียม ไม่เหมือนการทำงานของ สปสช.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดการงบแบบไม่มีประสิทธิภาพดีพอ เพราะนอกจากงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว สปสช.ยังไปตั้งงบฯบริการโรคเฉพาะ เช่น ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ผ่าตัดสมองวิธีต่างๆ ซึ่งรายละเอียดมาก และยังแบ่งเป็น 30 กรณี ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ยกตัวอย่าง บางโรงพยาบาลมีการบริการโรคเฉพาะตามที่ สปสช.กำหนดก็จะได้รับเงินมาก แต่หากโรงพยาบาลใดไม่มีการผ่าตัด หรือรักษาโรคเฉพาะตามที่กำหนด ก็จะไม่ได้รับเงินเลย ทำให้เกิดปัญหาเงินคงค้างอยู่ใน สปสช.ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลอีกหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน จึงเห็นว่าหากมีการตั้งคณะทำงานใหม่ก็ควรปรับกรณีการบริการโรคเฉพาะ โดยควรจัดทำเป็นกองทุนรวมเสีย ไม่ต้องแบ่งแยกเป็นกรณีๆ ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น